บริษัท นาเฮียใช้ จำกัด พิธีเปิดอาคาร 80 ปี "ศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้" ที่ ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายสมาคมองค์กรข้าว ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รวมทั้งประธานที่ปรึกษา อุปนายกทุกภาค คณะทำงานตลอดจนสมาชิกของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
นายวราวุธ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางครอบครัวของเฮียใช้ ที่ได้เปิดศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้ ในการที่จะทำให้สุพรรณบุรี มีศูนย์วิจัยข้าว เพราะวันนี้ปัจจัยที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกร มีรายได้ที่มากขึ้น และจากวันนี้ที่ได้เห็นการวิจัยพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ นั้นเป็นสิ่งสำคัญการที่มีพันธุ์ข้าวที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทำให้การมีผลผลิตต่อไร่แข็งแกร่งขึ้น ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศรวมไปถึงศัตรูพืชได้มากขึ้น
“ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ผมจะได้ฝากให้กับทางศูนย์วิจัยข้าวได้ไปศึกษาไปขยายตัว ก็คือการปรับเปลี่ยนการทำงานพืชผลเกษตรกับการปลูกข้าวในรูปแบบใหม่ ส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ ขอร้องให้ทางกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรปลูกข้าวให้เปลี่ยนมาปลูกแบบเปียกสลับแห้งทำให้ข้าวไทยเป็นข้าวโลว์คาร์บอน ปล่อยก๊าซมีเทนที่ต่ำลงจะทำให้ศักยภาพการขายของข้าวไทยในอีกไม่เกินจาก 5-8 ปี จากนี้ไป จะมีกำแพงภาษีเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น"
ดังนั้นหัวใจที่เกิดขึ้นนอกจากมีพันธุ์ข้าวที่ดีแล้ว ต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาต่อยอดทางการเกษตรจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น และมีความมั่นคงขึ้นด้วย จะทำให้ไปสู่แนวทางการทำการเกษตรที่ยั่งยืนใช้องค์ความรู้ที่มีในประเทศไทยไม่ว่าจะผ่านปราชญ์ชาวบ้าน และนี่เป็นความเข้มแข็งที่ประเทศไทยเรามี”
สอดคล้องกับนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาต้องการพันธุ์ข้าวใหม่ หลากหลาย เพิ่มทางเลือกในการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันด้านตลาด ซึ่งส่งผลดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว “ศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้” ก็หวังว่าจะเป็นอนาคตเกษตรกรจะได้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายให้เลือกเพาะปลูก ที่สามารถแข่งขันกับข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ และตอบโจทย์เกษตรกรในแต่ละพื้นที่เรื่องเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าววว่า พันธุ์ข้าวที่มีอยู่ทำอย่างไรให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งผมยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนพูดถึงเลยว่าเรามียุทธศาสตร์อะไรที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งการพัฒนาที่จะต้องใช้ระยะเวลายาวและต้องมีนโยบายระยะยาวที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหม่ควรจะให้ความสำคัญด้านนี้มากกว่าที่จะพูดแต่เรื่องของราคา เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายไหนออกมาพูดถึงข้าวเลย ก็เป็นสิ่งที่กำลังรอเช่นเดียวกัน
“ที่ผ่านมาสมาคมได้สนับสนุนข้าวพื้นนุ่มมาโดยตลอด จะเห็นว่าประเทศฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยก่อนหน้านี้ 7-8 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 1 แสนตัน ส่วนที่เหลือนำเข้าจากเวียดนามทั้งหมด เพราะเวียดนามมีข้าวพันธุ์พื้นนุ่มปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งของไทย ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มยังไม่มีมากพอที่จะส่งออก แค่ใช้ภายในประเทศยังไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ดังนั้นจะเห็นว่านโยบายของรัฐ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอ
นายเจริญ กล่าวว่า ทำไมสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ถึงได้จัดการประกวดพันธุ์ข้าว ก็เพื่อดึงข้าวพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยเอกชนต่างๆ ให้นำพันธุ์ข้าวออกมา ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ ดังนั้นการเกิดศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้ เกิดผลดี เพราะตลาดคือการแข่งขัน ถ้าสามารถทำได้ดีพันธุ์ข้าวเป็นที่ยอมรับ ถูกใจชาวนา ปลูกข้าวแล้วมีกำไร แต่ถ้าทำพันธุ์ข้าวแล้วชาวนาไม่ปลูก ก็แค่นั้น ดังนั้นคือการแข่งขัน แล้วถ้าไม่มีการแข่งขัน ก็จะเห็นว่าชาวนาปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันมา 30 ปี แล้วยังจะคิดปลูกข้าวพันธุ์นี้ต่อไปหรือ ทั้งที่ความจริง เมื่อมองเพื่อนบ้านสู้คู่แข่งไม่ได้แล้ว
นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การที่มีศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้ทำให้ข้าวที่เกษตรกรไปใช้ปลูกเป็นพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ ส่งผลในแง่ของผลผลิต และต้านทานต่อโรค ซึ่งเข้าไปชมงานภายในศูนย์แล้วเห็นว่าดีมีห้องแล็ป หวังว่าเกษตรกร จะมีพันธุ์ข้าวใหม่ ปรับปรุงออกมาแล้วทำให้เกษตรกรหรือชาวนามีกำไร จะได้มีกำลังใจปลูกข้าว จะส่งผลทำให้ข้าวเปลือกเยอะ จะส่งผลต่อโรงสี ซึ่งโรงสีมาที่หลังจะเป็นผลพลอยได้
เช่นเดียวกับ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าว เพราะว่าภาคเอกชน เป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญจะมีความคล่องตัวในการพัฒนา และมีความหลากหลาย และมองเห็นประโยชน์ของข้าวแต่ละชนิด
“เราต้องยอมรับว่าศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้ มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี แต่อย่าลืมว่าโครงสร้างของการพัฒนาพันธุ์ข้าวกับการกระจายพันธุ์ข้าวไปสู่มือเกษตรกร ทั้งสมาคมและศูนย์วิจัยมีขีดความสามารถในภาพรวมปีละประมาณ 3-4 แสนตัน ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และที่สำคัญหากเชื่อมต่อกับภาครัฐได้เป็นมือเป็นไม้ให้กับภาครัฐนำพันธุ์ข้าวต่างๆ สามารถลงไปสู่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง นี่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนจะไปเร็วมาก ซึ่งหากจะให้ดีการทำศูนย์วิจัย ถือว่าเป็นเรื่องจริงจังในการพัฒนาร่วมสมัยและก้าวหน้าด้วยดี”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าววิเคราะห์เปรียบเทียบ “ศูนย์วิจัยข้าว” ภาคราชการ จะมีกรอบ และการปรับตัว เปลี่ยนแปลงจะช้ากว่าเอกชน แต่ถ้ามีภาคเอกชนเป็นเครื่องมือ จะทำให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยความรวดเร็ว เพราะจะไปทิ้งน้ำหนักไว้กับทางราชการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและขยับไป เพราะพันธุ์ข้าวในประเทศมีความหลากหลายมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว มีความโดดเด่น และอยู่ในช่วงที่เรามีการต่อสู้และแข่งขัน ถ้าเริ่มต้นพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้ทุกอย่างก็ไม่ดี ถ้าพันธุ์ข้าวดีก็ดี ที่สำคัญเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรการที่มีเอกชนเข้ามาเล่นมีบทบาทตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย
“ผมคิดว่าศูนย์ข้าววิจัยเฮียใช้ เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชนและมีความชัดเจน เราทราบว่าตลาดข้าวมี 2 กลุ่ม คือ ข้าวพื้นนุ่มกับข้าวพื้นแข็ง ซึ่งความหลากหลายของข้าวพื้นนุ่ม และความหลากหลายของข้าวพื้นแข็ง วัตถุประสงค์ในการใช้ ถ้าตรงนี้ตอบสนองมีพันธุ์ข้าวที่มากกว่า 1 ก็จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือก เพราะอย่าลืมว่ากระบวนการเพาะปลูกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะการขับเคลื่อนไปตามเกษตรกร และตลาดโลก"
หากมีเป้าหมายชัดเจน อานิสงส์จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน เพราะวันนี้เรายอมรับว่าถึงแม้จะมีพันธุ์ข้าวเป็นหมื่นสายพันธุ์ที่มีอยู่ แต่จะเป็นอดีตไปเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะต้องมีพันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตดี ก็เท่ากับช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของการลดต้นทุนไปในตัวให้มีรายได้มากขึ้น นอกจากจะมีวิจัยเรื่องพันธุ์ข้าวแล้ว จะต้องมีการวิจัยเรื่องการลดต้นทุนของพี่น้องเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญคือการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดิม หรือมากกว่าเดิม เพราะพันธุ์ข้าวเป็นจุดเริ่มต้น
นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย กล่าวว่า “ศูนย์วิจัยข้าว” เกิดขึ้นจาก ครอบครัวเจริญธรรมรักษา เริ่มต้นธุรกิจรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยการส่งเสริมชาวนาตั้งแต่ปี 2540 ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า "เฮียใช้ เมล็ดพันธุ์ข้าว" นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 26 ปี โดยเริ่มจากการค้นหาเกษตรกรมืออาชีพ และพร้อมจะพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 200 ราย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัท นาเฮียใช้ จำกัด พยายามสร้างระบบ ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 กำหนด ซึ่งสมาชิกทั้งหมดจะต้องปลูกด้วยวิธีปักดำโดยเครื่องจักรหัวใจสำคัญ คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจกับสมาชิก ในด้านการควบคุมคุณภาพในแปลงนา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไว้บริการพี่น้องชาวนาผู้มีพระคุณและในปัจจุบัน ทีมงานเมล็ดพันธุ์ข้าวเยใช้เห็นความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชาวนาโรงสี ผู้ส่งออก และตลาดผู้บริโภคจึงได้ก่อสร้างศูนย์วิจัยข้าวเฮียใช้ (Herechai Rice Research Center ) ขึ้นในปี 2565
ปัจจุบันการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ พร้อมที่จะทำหน้าที่อีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการข้าวไทย และในวันที่ 25 เมษายน 2566 เป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณแม่มุ้ยเกียว เจริญธรรมรักษา (ภรรยาเฮียใช้ มีอายุครบ 80 ปี) ทางครอบครัวเจริญธรรมรักษาจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดศูนย์วิจัยข้าว “เฮียใช้” เพื่อตอบโจทย์มุ่งมั่นพัฒนาผลิตหัวเชื้อเมล็ดพันธุ์ดี เพื่อชาวนาและข้าวไทย