นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่าการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชนครพนมจัดเป็นด่านตรวจพืชปลายทางของสินค้าก่อนที่จะมีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมฯได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการส่งออก รวมถึงหลักฐานประกอบการส่งออกจากผู้ส่งออก ในระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อป้องกันการแสดงหลักฐานเท็จ และการสวมสิทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หากตรวจสอบแล้วถูกต้องจะส่งข้อมูลเพื่อแจ้งตรวจสอบสินค้า ณ โรงคัดบรรจุไปยังด่านตรวจพืชต้นทางของสินค้า เช่น การส่งออกทุเรียนสดของพื้นที่ภาคตะวันออกจะส่งข้อมูลไปยังด่านตรวจพืชจันทบุรี ด่านตรวจพืชท่าเรือคลองใหญ่ และด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบศัตรูพืชและตรวจรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และหากผ่านการตรวจรับรอง ด่านตรวจพืชนครพนมจะเป็นผู้ออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ให้แก่ผู้ส่งออก
“การลงพื้นที่นี้ได้มีนายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม เข้าร่วมติดตามผลการปฏิบัติงานด้วยซึ่งด่านตรวจพืชนครพนมเป็นด่านนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรทางบก 1 ใน 6 ด่านตรวจพืชของไทย ที่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้า และส่งออกผลไม้ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนการปฏิบัติงานด้านการรับรองสุขอนามัยพืช ณ ด่านตรวจพืชนครพนม ดำเนินการในระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเริ่มนำร่องใช้กับการส่งออกผลไม้สดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ส่งออก เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ในการดำเนินการด้านเอกสาร”
อย่างไรก็ตามในขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชนครพนมจะตรวจสอบการปล่อยรถสินค้าทุเรียนสดไปยังนอกราชอาณาจักร ณ ฝั่งขาออกของด่านศุลกากรนครพนม บริเวณสะพานมิตรภาพ 3 อีกครั้ง เพื่อป้องกันการนำใบรับรองสุขอนามัยพืชของไทยไปใช้เพื่อสวมสิทธิ์ผลผลิตที่ไม่ได้มาจากประเทศไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่า ผลผลิตทุเรียนสดมาจากแหล่งผลิตประเทศไทยเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพจากสวนและคัดบรรจุจากโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองจากกรม
สำหรับสถิติการส่งออกทุเรียนสดปี 2564 ที่มีการลงนามและประกาศใช้พิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย-จีน มีการส่งออกทุเรียนสดผ่านด่านนครพนม จำนวน 24,533 ตู้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 47,500 ล้านบาท ปี 2565 ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด–19 ประกอบกับจีนใช้มาตรการซีโร่โควิดกับสินค้าที่นำเข้า ทำให้มูลค่าการส่งออกทุเรียนลดลงจากปี 2564 กว่าร้อยละ 70 เหลือเพียง 7,445 ตู้ มูลค่า 6,008 ล้านบาท
ใน 2566 นี้ พบว่าการส่งออกทุเรียนคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการยกเลิกมาตรการ Zero-Covid มีการส่งออกทุเรียนสดตั้งแต่เดือนมกราคม – 15 เมษายน 2566 จำนวน 4,012 ตู้ คิดเป็นมูลค่า 8,400 ล้านบาท และพบว่ามีแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้น เส้นทางการขนส่งในปัจจุบันถือว่ามีความคล่องตัวและมีเส้นทางการขนส่งตามที่กำหนดในพิธีสารฯ ที่ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าทุเรียนสด จำนวน 12.18 ตัน ทางด่านเหอโข่ว (Hekou) ของจีนเป็นตู้แรก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีด้านการเพิ่มเส้นทางการขนส่งผลไม้ให้มีความหลากหลายและสามารถกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างทั่วถึง
“ต้องการให้การส่งออกทุเรียนสดไทยมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร คุณภาพ มาตรฐานของทุเรียนเป็นภาพลักษณ์โดดเด่น และยอมรับจากผู้บริโภค ผลผลิตจากสวนของเกษตรกร โรงรวบรวม และคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช ตลอดจนการขนส่ง การตรวจสอบย้อนกลับ และการป้องกันการสวมสิทธิ์”