“ปุ๋ย” หนึ่งในปัจจัยการผลิตสำคัญในการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ช่วง 1 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่งผลซัพพลายปุ๋ยโลกขาดแคลน และราคาปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 100% แม้เวลานี้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่ราคาปุ๋ยทั่วโลกยังทรงตัวในระดับสูง เป็นต้นทุนสำคัญที่เกษตรกรต้องแบกรับ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการคำนวณข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2565 เกษตรกรไทยมีค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยเท่ากับ 2 แสนล้านบาท (สัดส่วนมากกว่า 90% เป็นปุ๋ยเคมี) และค่าจ้างแรงงาน 1.8 แสนล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายด้านนี้อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 หมื่นล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ซัพพลายปุ๋ยโลกขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นมาก ขณะที่มีปริมาณนำเข้าลดลง โดยในปี 2565 ไทยมีการนำเข้าปุ๋ย (แม่ปุ๋ย+ปุ๋ยเคมี) 4.20 ล้านตัน มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท (จากปี 2564 นำเข้า 5.67 ล้านตัน มูลค่า 7.45 หมื่นล้านบาท) ส่วนค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานยังคงเดิมที่ 1.8 แสนล้านบาท เนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2565 ไม่ได้ปรับขึ้นมาก
ทั้งนี้ ข้าว เป็นพืชที่ใช้ปริมาณปุ๋ยเคมีมากที่สุด สัดส่วน 41% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด จากมีพื้นที่เพาะปลูกมากสุด 66.5 ล้านไร่ ตามด้วย ยางพารา (28%) ปาล์มน้ำมัน (12%) อ้อย (7%) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (7%) และมันสำปะหลัง (5%) และเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการผลิตในปี 2560 ก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนพบว่า 10 สินค้าเกษตรสำคัญมากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายการผลิตทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงและปุ๋ยรวมกัน โดยค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงมีสัดส่วนมากกว่าค่าใช้จ่ายปุ๋ย แต่เมื่อเกิดสงคราม ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยมีมากกว่าค่าแรง
เหตุผลที่ค่าจ่ายเพิ่มขึ้น ผลจากเดือนมีนาคม 2565 รัสเซียได้ออกประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยไปตลาดโลก ใน 48 ประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย ทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกปรับขึ้นทันที (รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับ 1 ของโลก) โดยราคาปุ๋ยยูเรีย และ DAP เพิ่มจาก 400 และ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเป็นมากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 150% ขณะที่ยูเครนห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตร
อย่างไรก็ดี แม้เวลานี้สถานการณ์ซัพพลาย และราคาปุ๋ยจะคลี่คลายลง โดยรัสเซียได้มีข้อตกลงขยายระยะเวลาข้อตกลงส่งออกธัญพืชและปุ๋ยของยูเครนผ่านทะเลดำไปถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีในปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง (แม้จะลดลงต่ำกว่าช่วงเกิดสงครามใหม่ ๆ ก็ตาม) ซึ่งมีอย่างน้อย 5 ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาปุ๋ยในตลาดโลก ได้แก่ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยที่ยังผันผวน
2.ข้อตกลงการส่งออกธัญพืชและปุ๋ยของยูเครน ที่รัสเซียอาจยกเลิกข้อตกลงได้ทุกเมื่อ หากข้อแลกเปลี่ยนในการยกเลิกคว่ำบาตรสินค้าเกษตรของรัสเซียไม่ได้รับการตอบสนองจากชาติตะวันตก 3.มีหลายประเทศที่เต็มใจซื้อขายปุ๋ยกับรัสเซียโดยตรง เช่น จีน อินเดีย และประเทศในเอเชียที่ไม่ได้ต่อต้านรัสเซีย 4.ราคาก๊าซธรรมชาติและโปแตชโลกมีทิศทางขาลง และ 5.ประเทศในตะวันออกกลาง และจีน เริ่มส่งออกปุ๋ยมากขึ้น
“ส่วนตัวมองว่าราคาปุ๋ยในปีนี้จะยังทรง ๆ แต่ราคาจะไม่สูงเท่ากับในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนใหม่ ๆ ส่วนการนำเข้าปุ๋ยของไทยในปีนี้น่าจะมีมากกว่า 4 ล้านตัน แต่คงไม่ถึง 5 ล้านตัน ทั้งนี้หนึ่งในทางออกปุ๋ยแพงคือ การผลิตแม่ปุ๋ยเองในประเทศ โดยใช้โมเดลของอินโดนีเซียที่ใช้วัตถุดิบมาจากก๊าซธรรมชาติในประเทศเพื่อผลิตปุ๋ยเอง ทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยราคาต่ำ ขณะที่ไทยมีแร่โปแตซในภาคอีสานที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ย ดังนั้นควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น”
สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ชี้ให้เห็นถึงราคาปุ๋ยเวลานี้แม้จะปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง ตัวอย่างปุ๋ยสูตร 21-0-0 ราคาขายส่งกรุงเทพฯ เดือนมี.ค. 64 อยู่ที่ 6,600 บาทต่อตัน เดือนมี.ค.65 (หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ขึ้นมาที่ 16,400 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 148% ขณะเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัน
ปุ๋ยสูตร 46-0-0 เดือนมี.ค. 64 อยู่ที่ 11,700 บาทต่อตัน เดือน มี.ค. 65 ขึ้นมาที่ 28,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 139% และเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ 21,733 บาทต่อตัน และปุ๋ยสูตร 0-0-60 เดือน มี.ค. 64 อยู่ที่ 11,800 บาทต่อตัน เดือนมี.ค. 65 ขึ้นมาที่ 30,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 154% และเดือน ก.พ. 66 ยังสูงที่ระดับ 33,625 บาทต่อตัน
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ปุ๋ยแพงเป็นภาระของเกษตรกรมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากต้นทุนปุ๋ยมีสัดส่วนถึง 30-40% ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เวลานี้แม้ราคาปุ๋ยจะปรับตัวลดลงบ้าง แต่ยังถืออยู่ในระดับสูง ที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้หาทางลดต้นทุนด้านปุ๋ยให้กับเกษตรกร เช่น การนำสารจุลินทรีย์ หรือสารชีวภาพมาใช้ฉีดพ่นแทนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยสูตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้มีต้นทุนที่ลดลง และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การใช้สารจุลินทรีย์สามารถช่วยลดต้นทุนปุ๋ยลงเหลือไร่ละประมาณ 2,900 บาท จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุน 5,000-5,700 บาทต่อไร่ ซึ่งได้ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในหมู่สมาชิกแล้วในหลายจังหวัด ของภาคเหนือและภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท เขตหนองจอก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา อยุธยา เป็นต้น
“อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยลดภาระค่าปุ๋ย ค่ายา น้ำมันให้มีราคาถูกลง จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่า 1 พันกิโลฯ รวมถึงการดูแลเรื่องแหล่งน้ำให้มีเพียงพอ หากช่วยได้ในเรื่องเหล่านี้ชาวนาจะสามารถปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูง และตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อแข่งขันส่งออก และบริโภคตลาดในประเทศได้อย่างตรงจุดมากขึ้น” นายปราโมทย์ กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3883 วันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566