โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ( 28 ก.พ.66) วงเงิน 7,643.86 ล้านบาท มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ ตุลาคม- พฤศจิกายน 2565 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการโอนให้ชาวสวนยางตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 เป็นต้นมา โดยนัดจ่ายทุกวันศุกร์ ดำเนินการมาแล้ว 4 งวด จ่ายให้แก่ชาวสวนยางและคนกรีดยางกว่า 2.5 แสนราย จากโครงการเดิม 3 ปีที่แล้วจ่ายแบบทีเดียว
จากยังมีหลายประเด็นข้อสงสัยของชาวสวนยางในโครงการนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเคลียร์ประเด็นในทุกคำถาม พร้อมรับนโยบายบอร์ด กยท. ให้เร่งจ่ายเร็วขึ้นโดยประสานความร่วมมือกับ ธ.ก.ส.
แจงเหตุ ธ.ก.ส.ทยอยแบ่งจ่าย
นายณกรณ์ กล่าวยืนยันว่า ธ.ก.ส.มีเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจนโยบายการทยอยจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.ว่าทำไมถึงต้องทยอยจ่าย ต่างจากประกันรายได้ยางพาราในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจะจ่ายทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งกยท.ได้ส่งข้อมูลชาวสวนยางไปให้ทั้งหมดแล้ว
“ครั้งนี้มีการเปลี่ยนวิธีใหม่ ทั้งที่ผมทำเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่กลับให้ กยท.ทำกำหนดแผนการโอนจ่าย ทุกวันศุกร์ จำนวน 16 งวด ไม่เช่นนั้นจะไม่โอนเงินให้กับชาวสวนยาง ซึ่งในตอนนั้นเราก็ต้องทำ เพราะอยากให้ชาวสวนยางได้รับเงินโดยเร็ว จากเลื่อนมาหลายรอบแล้วก็เข้าใจหัวอก เพราะเป็นเงินที่ควรได้ตามนโยบายรัฐบาล และไม่มีนโยบายแยกโอนเงินเป็นรายจังหวัดอยู่แล้ว จะไปแยกโอนรายจังหวัดเพื่ออะไร ที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำ แต่เดิมก็ทำดีอยู่แล้วไม่โดนด่า”
นายณกรณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่จ่ายเงินประกันรายได้ยางพารา แค่ 2 งวด คือ เดือนตุลาคม และเดือน พฤศจิกายน 2565 จากงบประมาณมีแค่นั้น โดยก่อนหน้านี้ มีจ่ายประกันรายได้ข้าว ( 18,337 ล้านบาท + โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 25655/66 วงเงิน 54,336.14) รวม 72,673.14 ล้านบาท นอกจากนั้นก็มีชาวไร่อ้อย และประกันรายได้อีก 3 พืช ได้แก่ ปาล์มนํ้ามัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ซึ่งยางพารามาหลังสุด โดยมีกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าของโครงการ ก็ดันโครงการเข้าไปเพื่อขอนุมัติก่อน
แต่ในส่วนของยางพารามีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ก็มาขาดตอนช่วงประชุมเอเปค (ปลาย พ.ย.65) พอจะกลับมาประชุมเงินไม่มี จึงทำให้ต้องพิจารณาจากงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งต้องมองให้กว้าง เพราะยังมีอีกหลายโครงการของกระทรวงอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงินด้วย แต่ก็ได้ผลักดันอย่างเต็มที่
คาดโอนเงิน 1.1 ล้านราย พ.ค.นี้
ทั้งนี้คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และเป็นเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1.6 ล้านราย รวมพื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ยังคงเดิม อาทิ 1.เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ 2.ราคายางที่ประกันรายได้ มีดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม(กก.) นํ้ายางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. 3.แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของเงินค่าประกันรายได้
สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 วงเงินสะสมโครงการรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้ปีละ 1.4 ล้านราย พื้นที่ 18.4 ล้านไร่
นายณกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการหารือกับ ธ.ก.ส. (3 พ.ค.66) มีผลสรุปจะช่วยเร่งรัดการจ่ายเงินให้เร็วเป้าหมาย 80% เดือน พ.ค.นี้ เมื่อคำนวณ 80% จากชาวสวนยางประมาณ กว่า 1.4 ล้านราย คาดว่าธ.ก.ส.จะโอนภายในเดือนนี้ประมาณกว่า 1.1 ล้านราย ก็จะทำให้การจ่ายเงินเร็วขึ้น โดยรับนโยบายจากบอร์ด กยท. ประสานความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. เสนอให้จ่ายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ทบทวนเก็บภาษีปลูกยาง
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า จากระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพืชเกษตร หมวดยาง ในวงเล็บ 35 จะต้องปลูกยางไม่น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ จะถือว่าเพื่อการเกษตร แต่ถ้าไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่จะต้องเสียภาษีอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร
“การกำหนดต้นยางพารากี่ไร่ ไม่แน่ใจว่าไปเอามาจากไหน เพราะตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จำกัดความคำว่า “สวนยาง” หมายความถึงที่ดินปลูกต้นยางเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูก ไม่น้อยกว่า 10 ต้น และโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น ซึ่งจะขัดในข้อกำหนดของกฎหมายตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เรื่องนี้จะต้องเข้าไปคุยอธิบายเพื่อให้ทบทวนใหม่ อย่างไรก็ดีมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นั่งอยู่ในบอร์ด กยท. ด้วยก็จะมีการหารือเพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องชาวสวนยางต่อไป”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566