นายสุระชัย ทวีแสงสกุลไทย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุดร ช.ทวี จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เครือช.ทวีเป็นผู้แทนจำหน่ายรถบรรทุกฮีโน่รายใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยบ.อุดร ช.ทวี ดูแลใน 6 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ โดยเวลานี้มอบให้นายณัฐชัย ทวีแสงสกุลไทย ลูกชายคนโต เข้ามาดูแลรับผิดชอบในการบริหารธุรกิจทั้งหมดแทน เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปต้องให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารจัดการแทนคนรุ่นเก่า
ส่วนตนเองถอยออกมาเป็นที่ปรึกษา คอยให้แนวทางการดำเนินงานต่างๆ แทน รวมทั้งไปดูแลงานด้านอสังหาริมทรัพย์ และใช้เวลาที่ว่างมากขึ้นไปศึกษาหาความรู้ มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงตามดูความเปลี่ยนแปลงโครงข่ายคมนาคมของประเทศและกลุ่มอาเซียนมาก่อนหน้านั้น และระบบโลจิสติกส์ของจีน (โครงการBRI) มาผนวกรวมกัน พบว่าธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร จะมีความจำเป็นและมีโอกาสเติบโตในอนาคต
โดยที่บางส่วนของภาคอีสานตอนบน ที่เป็นพื้นที่ทางผ่านของระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (แนวทางแม่สอด-นครพนม) หรือ East-Weast Corridor จะกลายเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ของไทย และกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน รวมไปถึงประเทศจีนตอนใต้หลายมณฑล โดยมีประชากรรวมกันหลายร้อยล้านคน
ทั้งนี้ กาฬสินธุ์อยู่ในแนวเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงสู่กลุ่มอาเซียนตอนบนและจีน โดยจากเวียดนามกลางผ่านลาวไปจีนตอนใต้ หรือผ่านเมียนมาไปลาวถึงจีน ก็ต้องผ่านพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะบึงกาฬ กับทางหลวงหมายเลข 8 ที่กำลังมีโครงการก่อสร้างจากท่าเรือแหลมฉบัง-นครพนม ผ่านพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตในภาคตะวันออก ก็ต้องผ่านกาฬสินธุ์ และบึงกาฬ ก่อนเข้าสู่สปป.ลาว
บริษัท อุดร ช.ทวี เล็งเห็นโอกาสระยะยาวในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ว่ามีอนาคตการเติบโตสดใสกว่าธุรกิจอื่น จึงได้ลงทุนหาซื้อที่ดินในจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดแนวชายแดนไว้เกือบทุกจังหวัด รวมถึงแลนด์แบงก์ใน 6 จังหวัดจะได้นำแปลงที่ดินที่มีศักยภาพมาพัฒนารองรับกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วย โดยได้ตั้งสาขาที่จังหวัดบึงกาฬไว้แล้ว ส่วนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีที่ดินประมาณ 50 ไร่ ได้แบ่งมา 6 ไร่ ตั้งเป็นศูนย์บริการครบวงจร แก่รถบรรทุกขนาดใหญ่ของบริษัทขนส่งสินค้า
ส่วนที่อุดรธานี จะใช้พื้นที่ของบริษัท ที่เตรียมไว้บริเวณริมถนนมิตรภาพ สายอุดรธานี-ขอนแก่นจำนวน 10 ไร่ ตั้งเป็นศูนย์บริการ และมีแผนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้ง 6 แห่งต่อไป โดยที่สาขาหนองคาย ได้จัดพื้นที่ไว้ประมาณ 50 ไร่ สำหรับการจัดตั้งคลังสินค้าทันฑ์บน เป็นที่พักสินค้าขาออก-สินค้าเข้า โดยจะนำระบบเน็ตเวิร์คที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการให้บริการ โดยมีเครือข่ายสาขาของบริษัท ช.ทวีฯ ทุกแห่งของภาคอีสานคอยเป็นลูกข่ายให้ โดยแผนงานเหล่านี้มีเป้าหมายจะเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน ใน 6 จังหวัดภาคอีสานตอนบน บริษัท อุดร ช.ทวี มีส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุกฮีโน่ อยู่ที่ 42 % และมุ่งบริการแบบครบวงจร ทั้งบริการอะไหล่รถบรรทุก บริการดูแลซ่อมแซม หรือบริการส่วนควบครบวงจร
นายสุระชัยกล่าวอีกว่า อีกธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใส คือ ภาคการเกษตร แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือ สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับช่างเทคนิคและด้านเทคโนโลยีทุกชนิด ต้องผลิตกำลังแรงงานด้านเทคนิเชียน เทคโนโลยีการเกษตร ให้มากพอป้อนตลาดแรงงานในพื้นที่
ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ย้ายบางส่วนไปอยู่ที่ตำบลสามพร้าวบ้างแล้วนั้น ควรย้ายไปทั้งหมดทุกคณะ พื้นที่เดิมควรให้วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ที่เวลานี้มีพื้นที่จำกัดคับแคบ ได้ขยายการศึกษา เพื่อผลิตช่างเทคนิคโดยเฉพาะ
รวมทั้งสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยี ให้เปิดหลักสูตรด้านการเกษตรทุกชนิด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ วิทยาลัยอาชีวศึกษาผลิตนักศึกษาด้านธุรกิจ วิทยาลัยการท่องเที่ยวอุดรธานี ผลิตนักศึกษาด้านการท่องเที่ยว ให้มี “สถาบันอาชีวศึกษาภาค” เป็นหน่วยงานควบคุม ให้แต่ละสถาบัน ผลิตนักศึกษาให้ได้ตามเป้าหมายความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,886 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566