นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยผลการดำเนินการควบคุมคุณภาพ และตรวจรับรองสุขอนามัยพืช ส่งออกทุเรียนในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงปัจจุบันว่า สามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้ว 2.5 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 4.5 แสนตัน สร้างมูลค่ากว่าแสนล้านบาท การส่งออกเป็นไปด้วยความราบรื่นทุกเส้นทางไม่ว่าจะทางบก ทางเรือ ทางอากาศรวมทั้งเส้นทางขนส่งทางรถไฟ
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกหลังครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออก 15 เมษายน 2566 ถึงต้นเดือนพฤษภาคม มีปริมาณเฉลี่ย 850-950 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน หลังจากนี้มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 200-250 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตรุ่นสุดท้ายในพื้นที่ภาคตะวันออกจะออกช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ให้ผลผลิตในภาคใต้
"ราคาผลผลิตทุเรียนปีนี้ค่อนข้างสูงตั้งแต่ต้นฤดูเป็นที่น่าพอใจของชาวสวนทุเรียน ณ ปัจจุบันราคารับซื้อหน้าล้ง เกรด เอบี ราคา 160-180 บาท ส่วนผลผลิตที่ตกไซส์ มีตำหนิ จำหน่ายในตลาดภายในประเทศราคาดีต่อเนื่อง"
"กรมวิชาการเกษตร ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกรผู้ประกอบการล้ง เอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทยที่ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรอย่างใกล้ชิด เข้มข้น เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกไปยังประเทศจีน”
พร้อมนี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมนำมาตรการควบคุมคุณภาพการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ขยายผลสู่ภาคใต้ เพื่อรองรับฤดูกาลผลิตของทุเรียนภาคใต้ และผลผลิตทุเรียนภูมิภาคอื่น ๆ โดย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 สรุปจัดทำแผนการบริหารจัดการปฏิบัติงาน”จันทบุรีโมดล” เพื่อนำไปขยายผลใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพการส่งออกทุเรียนเพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนไทยต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้สั่งการให้ หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบการควบคุมคุณภาพทุเรียนของประเทศ เช่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี ที่รับผิดชอบควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคใต้, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ที่รับผิดชอบควบคุมคุณภาพทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดศรีสะเกษ ที่รับผิดชอบควบคุมคุณภาพทุเรียนศรีสะเกษ และจังหวัดในพื้นที่อีสานล่าง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าศึกษาดูงาน รวมทั้งฝึกปฏิบัติการปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพส่งออกทุเรียน ร่วมกับ สวพ.6 เพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป