ราคานํ้าตาลดิบ พุ่งสูงสุดรอบ 11 ปี โรงงานแข่งโกยรายได้

20 พ.ค. 2566 | 02:02 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 02:29 น.

นอกจากอุณหภูมิความร้อนของประเทศไทยจะพุ่งปรี๊ดในเวลานี้แล้ว อุตสาหกรรมนํ้าตาลก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะราคาในตลาดโลกที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง อานิสงส์ตกถึงผู้ส่งออกกันถ้วนหน้า ขณะที่สถิติการส่งออกนํ้าตาลไทยและอินเดียสลับแถวกันครองตำแหน่งอันดับ 2

ราคานํ้าตาลดิบ พุ่งสูงสุดรอบ 11 ปี โรงงานแข่งโกยรายได้

ล่าสุด นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรมนํ้าตาลไทย สาเหตุที่ราคาพุ่ง สถานการณ์นํ้าตาลโลก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่รอบตัว

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวว่า ราคานํ้าตาลทรายดิบตลาดนํ้าตาลนิวยอร์คช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 6 เซนต์ต่อปอนด์ จากระดับตํ่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ 20.65 เซนต์ต่อปอนด์ พุ่งแตะสูงสุดระดับใหม่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ราคาขยับขึ้นไป ที่ 27.41 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่ราคาสูงถึง 28.35 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น ราคานํ้าตาลทรายขาวลอนดอน ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ตันละ 730.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด

  • 5 ปัจจัยดันราคาพุ่ง

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด มองถึงสาเหตุของการปรับตัวสูงขึ้นของราคานํ้าตาลว่า มาจาก 5 สาเหตุหลักคือ 1.ผลผลิตนํ้าตาลที่ลดลงมากในอินเดีย โดยคาดว่าในปี 2565/66 จะผลิตได้ประมาณ 32.5 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 35.8 ล้านตัน ทำให้อินเดียส่งออกนํ้าตาลในปีนี้ได้เพียง 6 ล้านตัน ตามจำนวนที่รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว เทียบกับปีก่อนที่ส่งออกได้ถึง 11-12 ล้านตันจะทำให้ไทยขึ้นมายืนอันดับ 2 ในการเป็นผู้ส่งออก นํ้าตาลรายใหญ่อีกครั้ง

2.การลดลงของผลผลิตนํ้าตาลไทย ซึ่งในช่วงต้นปีคาดว่าจะเก็บเกี่ยวอ้อยได้ประมาณ 105-110 ล้านตัน แต่เมื่อสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวปรากฏว่า ได้ผลผลิตอ้อยเพียง 93.89 ล้านตัน โดยผลิตนํ้าตาลได้เพียง 11 ล้านตัน 3.แม้เป็นที่คาดกันว่า บราซิลกลาง-ใต้ ในฤดูการผลิตปีใหม่จะผลิตนํ้าตาลได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นประมาณ 38 ล้านตัน เพิ่มเกือบ 13% แต่ความแออัดที่ท่าเรือส่งออกทำให้ไม่สามารถส่งออกนํ้าตาลได้ทันตามกำหนดระยะเวลา ประกอบกับภาวะอากาศที่เกิดฝนตกหนัก จะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวอ้อยผลิตนํ้าตาล

4.โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (ก่อให้เกิดภัยแล้ง) มีความเป็นไปได้สูงมาก และส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตนํ้าตาลไม่สามารถผลิตนํ้าตาลได้ทันกับความต้องการ 5.การปรับตัวสูงขึ้นของราคานํ้ามันดิบตลาดโลกจะช่วยหนุนให้ราคาเอทานอลสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะจูงใจให้ผู้ผลิตเปลี่ยนไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น

  • ส่องสถานการณ์นํ้าตาลโลก

สำหรับสถานการณ์ด้านการผลิตและการบริโภคนํ้าตาลของโลกนั้นในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา จากปี 2563/64 ถึงปี 2565/66 ผลผลิตนํ้าตาลทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผลผลิตนํ้าตาลสูงกว่าปริมาณการบริโภค กระทั่งล่าสุดปี 2565/66 ปรากฏว่าปริมาณการบริโภคเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ปริมาณนํ้าตาลส่วนเกิน หรือที่เรียกว่า SURPLUS ลดลง และมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตปีใหม่ 2566/67 ปริมาณนํ้าตาลส่วนเกินน่าจะลดลงอีก

ราคานํ้าตาลดิบ พุ่งสูงสุดรอบ 11 ปี โรงงานแข่งโกยรายได้

อย่างไรก็ตาม บราซิลยังคงเป็นผู้ส่งออกนํ้าตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยส่งออกได้ปีละไม่ตํ่ากว่า 27 ล้านตัน ซึ่งในปี 2565 ส่งออกได้ 27.3 ล้านตัน ทั้งนี้ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2563–2565) อินเดียได้กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 และไทยตามมาเป็นอันดับ 3 ส่วนอันดับ 4 และ 5 เป็นออสเตรเลีย และกัวเตมาลา (ดูกราฟิกประกอบ) ล่าสุดปี 2565/2566 มีแนวโน้มว่าไทยจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกนํ้าตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลอินเดียจำกัดการส่งออก โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกของไทยจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก เนื่องจากการบริโภคในประเทศจะมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

ส่วนสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลของไทย ตลอดช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตอ้อยและนํ้าตาลไทยได้ลดลงมากในช่วง 3 ปีแรกจากระดับผลผลิตอ้อยที่ 130.97 ล้านตัน และนํ้าตาล 14.58 ล้านตัน ในปีการผลิต 2561/62 จนถึงระดับตํ่าสุดในปี 2563/64 ด้วยผลผลิตอ้อยที่ 66.67 ล้านตัน และนํ้าตาลที่ 7.6 ล้านตัน แม้ในช่วง 2 ปีต่อมาได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตอนต้น

 ล่าสุดในปี 2565/66 ไทยมีผลผลิตอ้อยเพียง 93.89 ล้านตัน และผลิตนํ้าตาลได้ 11.0 ล้านตัน จากการคาดการณ์ว่าจะผลิตอ้อยได้ถึง 105-110 ล้านตัน สาเหตุของการลดลงน่าจะเกิดจากชาวไร่อ้อยเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นเช่น มันสำปะหลังที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับภาวะอากาศที่แห้งแล้ง รวมทั้งการขาดแคลนปุ๋ยที่มีราคาปรับตัวสูงมาก

  • เปิดปัจจัยเสี่ยงยังเพียบ

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงดังนี้

1.พืชคู่แข่งในพื้นที่ เกษตรกรจะเลือกปลูกพืชที่ให้ราคาดีที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมา มันสำปะหลังให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับอ้อย (ราคาอ้อยขั้นต้น) แต่เมื่อคิดรายได้รวมทั้งหมดที่มีการรวมค่าความหวานและเงินตอบแทน อ้อยยังถือว่าเป็นพืชที่เกษตรกรยังให้ความสนใจปลูกกันอยู่ เนื่องจากมีระบบดูแลชัดเจนและมีผู้รับซื้อที่แน่นอน ประกอบกับในปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปีครึ่ง ทำให้อ้อยยังให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับพืชคู่แข่งอื่นๆ

2.สภาพอากาศสภาพอากาศที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บางปีมีปริมาณฝนมากซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของอ้อย และถ้ามีฝนมากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะทำให้ประสบปัญหาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ขณะที่ในปีที่แล้ง ก็จะกระทบต่อการเติบโตของอ้อย ทำให้น้ำหนักลด ผลผลิตต่อไร่ลด มีผลกระทบกับรายได้ และการไว้ตออ้อยในปีถัดไป และเกษตรกรบางรายอาจเลือกปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ทนต่อสภาพอากาศแล้งดีกว่า

3. ปัจจัยเสี่ยงเชิงนโยบาย ความเสี่ยงจากการแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงาน โดยเฉพาะความพยายามที่จะนำกากอ้อยเข้ามาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ตกผลึกระหว่างชาวไร่และโรงงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ซึ่งในที่สุดอาจจะส่งผลต่อการเลือกชนิดของพืชที่จะปลูก

4.ความเสี่ยงและความท้าทายด้านการรักษาสภาพแวดล้อมที่ภาครัฐออกมาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งแม้ว่าปัญหานี้จะมีที่มาจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเผาไม้ทำลายป่าทั้งในประเทศและประเทศรอบข้าง โรงงานอุตสาหกรรมต่า งๆ และควันท่อไอเสียจากรถยนต์ เป็นต้น แต่การเผาอ้อยก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัญหา PM 2.5 เลวร้ายยิ่งขึ้น ภาครัฐจึงมีมาตรการการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ออกมา และทำให้ทั้งเกษตรกรชาวไร่โรงงานต้องมีการปรับตัวในเรื่องการเก็บเกี่ยวอ้อยซึ่งต้องมีต้นทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องจักรกลด้านการเกษตร และค่าใช้จ่ายแรงงานในการตัดอ้อยสด เป็นต้น

  • โรงงานนํ้าตาลโกยรายได้

 นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงภาพรวมของผลประกอบการของแต่ละโรงงานว่า เป็นภาพสะท้อนที่มาจากหลายปัจจัยขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ผลิตภัณฑ์นํ้าตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสำหรับโรงงานนํ้าตาลส่วนใหญ่เนื่องจากมีปริมาณการส่งออกประมาณ 70- 80% ของนํ้าตาลที่ผลิตได้ ในช่วงเวลาที่ราคานํ้าตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตนํ้าตาลทรายหลายแห่งที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ ต่างออกมาประกาศผลประกอบการที่ค่อนข้างดีมากในรอบหลาย ๆ ปี คาดในปี 2566 และ 2567 ราคาตลาดโลกยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเกิน 20 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยและโรงงานนํ้าตาล

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566