ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากความต้องการของตลาดโลกที่ฟื้นตัวหลังโควิด เงินบาทที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ของคู่แข่งขันรายสำคัญคือจีนลดลง จากมีข้อจำกัดด้านพลังงาน และค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ป้ายแดง มองทิศทางอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2565 ทั้งภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ การส่งออก รวมถึงภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งสานต่อ
นายสุพจน์ กล่าวว่า จากประมาณการการผลิตรถยนต์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2565 ประมาณ 1,800,000 คัน มากกว่าปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 1,685,705 คัน เพิ่มขึ้น 114,295 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.78% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน สัดส่วน 55.56% ของยอดการผลิต และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 8 แสนคัน สัดส่วน 44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด
เฉพาะผลิตเพื่อการส่งออกจำนวน 1 ล้านคัน จากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 956,530 คัน เพิ่มขึ้น 43,470 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.54% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน จากปีที่แล้วผลิตได้ 729,175 คัน เพิ่มขึ้น 70,825 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.71% ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2563 มูลค่า 18,721ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในปี 2565 จะขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หากเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้ยอดส่งออกปีนี้สามารถขยายตัวได้ถึง 10% สำหรับตลาด REM และสำหรับตลาด OEM น่าจะมีอัตราการเติบโตสอดคล้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 7%
นับแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ฐานการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ที่ประกอบด้วยยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ (Connected) ยานยนต์มีความสามารถขับขี่อัตโนมัติ (Automated) การใช้งานยานยนต์ร่วมกัน (Shared) และการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrified) หรือ C-A-S-E Technology โดยเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติจะมาควบคู่กับเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อ หรือยานยนต์เชื่อมต่อ และขับขี่อัตโนมัติ (Connected and AutonomousVehicle :CAV)
จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ทั้งในด้านโอกาส และความท้าทาย ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว โดยจากการศึกษาของกลุ่มฯ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ผู้ประกอบการจะมีแนวทางการปรับตัว คือให้ความสำคัญกับ การพัฒนากำลังคน การหาตลาด การวิจัยพัฒนา วัตถุดิบ ฯลฯ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มฯร่วมกับทางสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ทำการวิจัยถึงผลกระทบของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าต่อกลุ่มผู้ประกอบการในปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ และมีทิศทางการปรับตัวทางธุรกิจ แบ่งเป็น 4 ทิศทางใหญ่ ๆ ได้แก่
1.กลุ่ม Tier1 ที่มีเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ มีความใกล้ชิดกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ สามารถปรับตัวเข้าสู่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าได้ กลุ่มนี้รวมถึงชิ้นส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ก็ยังต้องใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้อยู่เพียงแต่ต้องปรับเทคโนโลยีบางส่วนเท่านั้นเช่น ตัวถัง ช่วงล่าง ระบบบังคับเลี้ยว ชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร เป็นต้น
2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ยอดคำสั่งซื้อลดลง แต่มีความแข็งแกร่งของตนเอง สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของตนเองขยับขยายไปเพิ่มตลาดอื่น เพิ่มรายได้ให้กับบริษัทชดเชยส่วนที่ลดลงควบคู่ไปกับชิ้นส่วนยานยนต์เดิมที่ยังพอเหลืออยู่ได้ เช่น ตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (REM) และอุปกรณ์ตกแต่ง ที่ยังมีความต้องการจากตลาดส่งออกทั่วโลก, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนระบบราง ที่ทางภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เพิ่ม Local content ในประเทศ, พาหนะขนส่งทางน้ำ, เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์, เครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร หรืออุตสาหกรรมระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติ เป็นต้น
3.กลุ่ม Tier2 และ Tier3 ที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ได้รับเทคโนโลยีจากกลุ่มที่1 ข้างต้น สามารถเข้าสู่ supply chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้ และ 4.กลุ่ม Tier2 และ Tier3 ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะต้องออกจากอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น ผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์, เครื่องจักรอุตสาหรรม, อุตสาหรรมเกษตรสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ
นายสุพจน์กล่าวว่า กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในยุคต่อไปนี้ว่าจะสานต่อการทำงานที่ประธานท่านก่อน( นายพินัย ศิรินคร)ที่ริเริ่มและทำงานร่วมกันมาตามแนวทาง 4P คือ 1. Product ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่ม OEM (Original Equipped Manufacturer) ที่ผลิตตาม Drawing ให้กับ supply chain ของโรงงานประกอบยนต์ และกลุ่ม REM (Replacement Equipment Manufacturer) ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน อุปกรณ์ประดับยนต์ และ performance part ต่างๆ (เช่นไฟตัดหมอกอัตโนมัติ, ฝาปิดกระบะท้ายเปิดด้วยไฮดรอกลิค เป็นต้น)
โดยกลุ่ม OEM กลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่นปัจจุบัน Drawing เป็นชิ้นส่วนของรถยนต์ไฮบริด จึงจำเป็นต้องรับเทคโนโลยีจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าเจ้าของ Drawing นั้นจะเป็นบริษัทรถยนต์, Tier1 หรือ Tier2 ก็ตาม คำสั่งซื้อของผู้ผลิตกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์เป็นหลัก การปรับตัวของกลุ่ม OEM นี้จึงขึ้นอยู่กับแผนการผลิตของค่ายรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งหากค่ายรถยนต์มีแผนจะทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มนี้ก็จำต้องปรับตัวตามให้ได้
ส่วนกลุ่ม REM กลุ่มนี้มีการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและตลาดของตนเอง ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ความต้องการในตลาดส่งออกทั่วโลกยังคงมีสูงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอะไหล่รถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) หรือยานยนต์ไฟฟ้าก็ตาม นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ตกแต่ง และ performance part ที่สินค้าจากประเทศไทย ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วโลกอีกด้วย โดยนโยบายของ APIC ในเรื่องนี้คือให้การสนับสนุนสมาชิก ทั้งด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ และส่งเสริมตลาดส่งออก REM ไปควบคู่กัน
2. Process กระบวนการผลิตจะต้องถูกยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้ตอบโจทย์ Q,C,D (Quality-Cost-Delivery) ส่งมอบชิ้นงานคุณภาพในระดับที่ไม่มีความผิดพลาด ในราคาที่แข่งขันได้ ตามเวลาที่กำหนด แนวทางหนึ่งคือการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotic) และ IoT (Internet of Things) มาใช้ในกระบวนการทั้งในโรงงานและกระบวนการสนับสนุน เช่นการวางแผนผลิต การจัดการ supply chain เป็นต้น ซึ่งทาง APIC ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย และหน่วนยงานต่างๆเช่น สวทช. ก็ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ Thailand i4.0 index เข้าสู่กลุ่มสมาชิกด้วย
3. People ด้วยแนวคิดที่ว่า “บุคลากรคุณภาพ จะผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ” ซึ่งทางฝ่ายพัฒนาบุคคลากรของ APIC ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของมืออาชีพด้าน HRD ของบริษัทสมาชิก ได้ทำงานร่วมกับสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ (HCBI) ของสภาอุตสาหกรรมฯ และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) พัฒนาบุคลากรในอุตสาหรรมอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด และความท้าทายของทั้ง HRM และ HRD ในยุคนี้คือการบริหารจัดการบุคลากรที่เป็น generation ใหม่ให้เข้ากับคุณลักษณะของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความจำเพาะ รวมถึงบุคลากรกลุ่มเดิมที่มีอยู่ให้มุ่งสู่เป้าหมายขององค์กรได้
นอกจากนั้นคือการประยุกต์นำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการทำงานร่วมกับคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรก็เป็นอีกความท้าทายที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกเราเช่นกัน
4.Platform การตลาดและสื่อสารยุคใหม่ มีการทำธุรกรรมผ่าน Digital Platform มากมาย ทาง APIC ก็ได้มองเรื่องนี้ โดยวางแผนกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ร่วมกันผลักดันการทำ Auto-parts platform เพื่อสนับสนุนด้านการตลาดทั้งชิ้นส่วนในประเทศและส่งออก รวมไปถึงการทำธุรกรรมกับทางภาครัฐผ่าน NSW (National Single Window) ในด้านต่างๆ เป็นต้น
นายสุพจน์กล่าวสรุปว่า จะเห็นว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยห่วงโซ่อุปทานมีความแข็งแกร่ง ตั้งแต่โรงงานประกอบรถยนต์ลงไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เทียร์ต่างๆ มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า 1,800 บริษัท และมีแรงงานที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมมากกว่า 700,000 คน มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ (วัตถุดิบและซัพพลายเออร์) ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ (การจัดจำหน่ายและบริการที่เกี่ยวข้อง) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สูง รวมถึงมีความพร้อมทางด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ค่อนข้างมาก
อีกทั้งไทยยังได้เปรียบด้านภูมิประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางของคาบสมุทรอินโดจีน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และตามการพยากรณ์ยอดผลิต ในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 1.8 ล้านคัน และคงเติบโตต่อเนื่องกลับไปสู่ 2 ล้านคัน ในปี 2567 หรือไม่เกิน 2568 นอกจากนั้น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อส่งออก จะยังเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการของลูกค้าในตลาดโลก ส่วนการผลิตรถรุ่น BEV คาดหมายกันว่าจะเริ่มมีการผลิตหลังจากปี 2567 ในปริมาณที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น ตามมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3763 วันที่ 6 - 9 มีนาคม 2565