พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 หมวด 3 การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง มาตรา 37 วรรค 2 กำหนดไว้ว่า การปลูกแทนให้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือหรือจ่ายเงินให้ก็ได้ ทั้งนี้จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้
เพื่อจัดหาปุ๋ยให้ผู้รับการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีในรอบต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ปี 2566 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำประกาศเผยแพร่ประกวดราคา ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อการจัดซื้อปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-12 จำนวน 1,123.60 ตัน ปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 จำนวน 11,870.95 ตัน ปุ๋ยเคมีสูตร 25-8-18 จำนวน 2,006.45 ตัน และการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 90,425.50 ตัน รวมเป็นเงิน 917 ล้านบาท
ผลผู้ชนะ ส่วนของปุ๋ยเคมี ได้แก่ บริษัท ปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด(บจก.) (คลิกอ่าน) ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 90,425.50 ตัน มีการยกเลิกประกาศประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (คลิกอ่าน) เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาผลคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 56
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการประมูลปุ๋ยยางพารา ในปี 2566 ว่า กยท. มีเงินสงเคราะห์ สามารถจ่ายเงินสด หรือจัดหาวัสดุตามระเบียบ แต่เดิมก็เคยจ่ายเป็นปุ๋ย แต่การจ่ายทั้ง 2 วิธี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ชาวบ้านชอบให้จ่ายเป็นเงิน เพราะใช้ง่าย และนำไปซื้อปุ๋ยใช้ได้เอง หรืออาจนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ไม่ซื้อปุ๋ยก็ได้
อย่างไรก็ดีในมุมของ กยท. อยากจ่ายเป็นปุ๋ย เพราะให้ไปแล้วเกษตรกรจะนำไปใส่ต้นยาง ทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น โรคใบร่วงลดลง ยังผลส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผลพวงจะตกกับเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม แต่จุดอ่อนของการจ่ายเป็นปุ๋ย คือ 1.ยุ่งยาก เพราะมีขั้นตอนทางเอกสารมาก เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยอยากทำ 2.มีคนมองไม่ดี ว่ามีการตุกติก หรือมีเงินทอนหรือไม่
“การจัดซื้อปุ๋ย ถ้าซื้อเฉพาะเจาะจงไปที่บริษัทนั้นเลย หรือต้องการปุ๋ยที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง โดยมีผู้ค้าหรือผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในประเทศทำ ก็อาจจะถูกมองได้ว่ามีอะไรเคลือบแฝงหรือมีข้อสงสัยอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ในข้อเท็จจริงเรามีการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งเป็นวิธีการปกติของการประกวดราคาซื้อปุ๋ยยางพารา มีหลายบริษัทเข้าร่วม มีโรงงานเป็นพันโรง ก็เชิญให้ทุกโรงเข้ามาประมูล ก็ขึ้นอยู่กับใครจะเข้ามาร่วมประมูลหรือไม่”
นายณกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นกรรมการทีโออาร์ในการจัดซื้อปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ แต่ทำตามนโยบายของคณะกรรมการ(บอร์ด) กยท. มีการกำหนดราคากลางอ้างอิง เมื่อตั้งเป็นราคากลางแล้ว แต่ละบริษัทก็ต้องลดราคาให้ถูกที่สุด ใครเสนอราคาตํ่าสุดก็จะได้ไป อย่าง “ปุ๋ยเคมี” ก็ได้มีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 คือ บจก.ปุ๋ยไวกิ้ง เสนอราคาตํ่าสุด 342.4 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ได้ยกเลิกประกาศประกวดราคา ส่วนจะเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาว่าจะประมูลใหม่หรือไม่ หรือจะทำวิธีการใด เป็นอำนาจของนายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการ กยท.ด้านปฏิบัติการ ในฐานะประธานกรรมการทีโออาร์จะตัดสินใจ ซึ่งได้เรื่องอย่างไรแล้วจะต้องเสนอเข้าบอร์ดรับทราบต่อไป จากนั้นก็จะมาเป็นอำนาจของผู้ว่าการฯ มาลงประกาศตามคำสั่งของบอร์ดในลำดับสุดท้าย
นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคท.) กล่าวว่า ไม่ติดใจผลการประมูลปุ๋ยเคมี เพราะได้บริษัทใหญ่ มีศักยภาพ มีสาขาทั่วประเทศ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากยกเลิก ได้ข่าวว่าจะไม่เปิดประมูลใหม่ ซึ่งยังไม่สรุปว่าจะจ่ายเป็นเงินให้เกษตรกรซื้อเอง หรือจะให้เครือข่ายแต่ละเขตประมูลจัดหากันเอง ซึ่งทางเครือข่ายมีความพร้อมและยินดี หาก กยท.จะมอบหน้าที่ให้จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ จะทำให้ได้ราคาถูกและมีรายได้จากการเปิดประมูลเข้า กยท.อีกทางหนึ่ง
ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีเกษตรกรหลายรายร้องเรียนผ่านสมาคมฯ โดยระบุให้จ่ายเป็นเงินโดยตรงจะดีที่สุด เพราะเวลานี้ฝนมาแล้ว หากล่าช้าและจ่ายเป็นปุ๋ยเกรงจะมีทันการณ์กับความต้องการของเกษตรกร
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566