ม็อบกดดัน กยท. ปุ๋ยยาง 891 ล้าน จัดซื้อไม่ทันให้จ่ายเงินตรง

14 ก.ค. 2565 | 05:38 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 13:08 น.

ผู้ว่าการยางฯ เบรกม็อบล้มประมูลปุ๋ยยาง ดึง แม่ทัพเครือข่ายถกด่วน ขอเวลา ต้น ส.ค. พร้อมส่งมอบ หากไม่ทัน พร้อมจ่ายเงินตรงทันที บอร์ด กยท.ยืนมติจัดซื้อปุ๋ย ต้นฤดูฝน กว่า 9.7 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 891 ล้านบาท หวั่นชาวสวนไม่สามารถหาซื้อปุ๋ยได้ หลังสงครามดันราคาพุ่ง ขาดแคลน

ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีในตลาดเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 600 - 700 บาทต่อกระสอบ (50 กก.) โดยมีราคาอยู่ที่กระสอบละ 1,600 บาท โดยประมาณ ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อในขณะนี้ ส่งผลเกิดวิกฤติปุ๋ยแพงและขาด แคลนทั่วโลก เนื่องจากทั้งรัสเซีย และยูเครนเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่

 

ล่าสุดคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ที่มี นายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานในที่ประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติการบริหารจัดการปุ๋ยในรอบต้นฤดูฝนปี 2565 ในสภาวะปุ๋ยแพงและขาดแคลน และมอบหมายให้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างปุ๋ยยางพาราด้วยวิธีคัดเลือก สวนทางข้อเสนอของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการให้จ่ายเป็นเงินให้กับเกษตรกร

 

 

ม็อบกดดัน กยท. ปุ๋ยยาง 891 ล้าน จัดซื้อไม่ทันให้จ่ายเงินตรง

 

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กยท. ได้เชิญเครือข่ายฯ ร่วมประชุมกับนายณกรณ์  ผู้ว่าการ กยท. (11 ก.ค.) โดยทางเครือข่ายฯต้องการคำยืนยันว่าจะจัดซื้อจัดจ้างปุ๋ยทันหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ ขู่จะบุกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นผู้นำเครือข่าย ต้องการขอความชัดเจนว่าวิธีจัดซื้อจัดจ้างหรือมีทีโออาร์อย่างไร  ซึ่งได้พยายามเจรจาบนโต๊ะก่อน ได้ข้อสรุปทางผู้ว่าฯ รับปากจะส่งมอบปุ๋ยยางพาราให้ทันถึงมือเกษตรกรต้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่หากไม่ทันก็จะดำเนินการขอมติบอร์ด กยท. เพื่ออนุมัติให้จ่ายเป็นเงินแทนทันที

 

 

แหล่งข่าวจาก บอร์ด กยท. กล่าวว่า จากการดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมา กยท. ใช้แนวทางบริหารจัดการปุ๋ย โดยการจ่ายเงินค่าปุ๋ยบำรุงให้เกษตรกรนำไปจัดหาปุ๋ยใช้เอง แต่จากปัจจุบันเกิดวิกฤติในเรื่องของปุ๋ยมีราคาแพงและขาดแคลน คณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของ กยท.จึงมีมติให้ กยท. จัดหาปุ๋ยบำรุงและปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรแทนวิธีการจ่ายเงินค่าปุ๋ย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถจัดหาปุ๋ยได้เอง และได้พิจารณาลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงครึ่งหนึ่ง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกันแทน

 

ปัจจุบันราคาแม่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ตันละ 26,000 บาท, แม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 ตันละ 34,000 บาท และแม่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ตันละ 26,500 บาท  และคาดว่าราคาจะขยับเพิ่มสูงขึ้นอีกทำให้ราคาปุ๋ยผสม สูตร 20-8-20 สำหรับเขตปลูกยางเดิม 20-10-12 และ 20-10-17 สำหรับเขตปลูกยางใหม่ เฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 28 บาท จึงเป็นผลให้รายการจ่ายค่าปุ๋ยบำรุงที่ กยท. จ่ายให้กับเกษตรกร กก.ละ17 บาท (กราฟิกประกอบ) ไม่เพียงพอที่ผู้รับการปลูกทดแทนจะนำเงินไปซื้อปุ๋ยและออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบส่งของในปริมาณที่กำหนดตามหลักปฏิบัติการปลูกแทน ซึ่งอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางและปริมาณผลผลิตในอนาคต

 

 

ม็อบกดดัน กยท. ปุ๋ยยาง 891 ล้าน จัดซื้อไม่ทันให้จ่ายเงินตรง

 

จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด คณะกรรมการจึงมีมติเพื่อกำกับและเป็นกรอบในการดำเนินการให้กับ กยท.  ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการ จากการจ่ายเงินเป็นการจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ.2560 และปรับชนิดปุ๋ย จากเดิมที่เป็นปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เป็นปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียว เป็นปรับการถัวจ่าย

 

 

 

โดยให้คำนึงถึงมาตรการที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของ กยท. ได้ให้ข้อเสนอแนะเป็นหลักการ คือต้องทันเวลา ต้องมีแผนบริหารสำรองความเสี่ยงในการดำเนินการ ต้องเป็นไปตามระเบียบ ต้องมีการให้ความรู้ทำความเข้าใจแก่เกษตรกร ต้องจัดหาปุ๋ยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และจะต้องนำไปสู่การสร้างแบรนด์ของ กยท. ได้ในอนาคต

 

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการปุ๋ยที่นำเสนอในครั้งนี้ นายณกรณ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การลดปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมีจากเดิม ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงต้นฤดูฝน จำนวน 27,891.55 ตัน แต่ด้วยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลนในปัจจุบัน จึงคาดว่าอาจไม่สามารถจัดหาปุ๋ยได้ตามที่กำหนดไว้เดิม จึงได้ปรับลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงครึ่งหนึ่ง เหลือปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้ในช่วงต้นฤดูฝน จำนวน 13,945.78 ตันโดยส่วนที่ลดลงไปครึ่งหนึ่งนั้น จะจัดหาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทน จำนวน 83,562.26 ตัน

 

โดยแบ่งเป็นปุ๋ยเคมี 3 สูตรได้แก่ สูตร 20-10-12 ปริมาณ 1,137.80 ตัน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 2.สูตร 25-8-18 ปริมาณ 10,871.65 ตัน ในพื้นที่ภาคตะวันออก 3. สูตร 20-8-20  ปริมาณ 1,936.30 ตัน  ในพื้นที่ภาคใต้ และปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณ 83,562.25 ตัน รวม 97,508 ตันวงเงิน 891.86 ล้านบาท

 

ข่าวหน้า 9  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565