"ประกันรายได้ข้าวปี4" ถือว่าสิ้นสุดในงวดที่33 โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการโครงการมาแล้ว3 ปีได้รับเสียงตอบรับจากชาวนาที่ดีแม้ว่าจะเป็นเงินหลานแสนล้านบาทในการเยียวยาเกษตรกร โดยหลังจากหมดโครงการนี้ชาวนาคงต้องลุ้นว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไรบ้าง
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 โดยสัปดาห์นี้ เป็นการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดสุดท้าย งวดที่ 33
สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-31 ก.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย และข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว
โดยงวดที่ 33 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,671.28 บาท ชดเชยตันละ 328.72 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,259.52 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,252.18 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,216.69 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,734.33 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาลทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 31 พ.ค.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชย 2,221 ครัวเรือน
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยตั้งแต่งวดที่ 1-32 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.636 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,867.02 ล้านบาท คิดเป็น 42.90% จากวงเงินประกันรายได้ที่ได้รับการอนุมัติ 18,337.50 ล้านบาท หากรวมเงินที่จ่ายชดเชยงวดที่ 33 อีกไม่มาก เหลือเงินคืนรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 นี้ ประสบผลสำเร็จและใช้เงินเพียงเล็กน้อย ช่วยให้ประหยัดงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการได้มาก