เอกชนบึงกาฬ ถก “กมธ.คมนาคม” หนุนขนส่งทางราง ดันสินค้าเกษตรบุกตลาดจีน

08 มิ.ย. 2566 | 02:32 น.
อัพเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2566 | 02:45 น.

เอกชนบึงกาฬจัดหนัก ชงข้อมูลโลจิสติกส์ และธุรกิจในพื้นที่ ให้กมธ.คมนาคม วุฒิสภา หนุนเชื่อมโยงขนส่งทางรางเส้นทางรถไฟบ้านไผ่ -นครนครพนม ดันสินค้าการเกษตร-ยางพารา บุกตลาดใหญ่จีน ชี้ลดต้นทุนขนส่ง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นายเจตน์ เกตุจำนง ประธานกลุ่มสหกรณ์การเกษตรฯจำกัด จังหวัดบึงกาฬ และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ในฐานะภาคเอกชนของจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า จากการได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) คมนาคม วุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีพลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ได้รายงานข้อมูลด้านต่างๆของจังหวัดบึงกาฬ พร้อมเสนอแนะความต้องการในการสนับสนุนด้านการขนส่งโลจิสติกส์

โดยเฉพาะการขนส่งระบบรางให้เกิดการเชื่อมโยงต่อกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเส้นทางบ้านไผ่ ถึงนครนครพนม ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ให้ผ่านบึงกาฬ ถึง หนองคาย เพื่อให้เกิดโครงข่ายเชื่อมโยง ความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง ชนส่ง ลดต้นทุนค่าขนส่ง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจยางพาราของภาคอีสานตอนบนที่มีผลผลิตเป็นจำนวนมาก

 

นายเจตน์ กล่าวอีกว่า จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ปลูกยางพารา มากที่สุดของภาคอีสาน มีผลผลิตปีละประมาณ 14,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยการขนส่งลงไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขนส่งไปยังตลาดยางพาราของเมืองกวางโจว หากสามารถขนส่งทางรางได้ จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งยางพาราลดลงและใช้เวลาประมาณ 5 วันจะถึงปลายทางเร็วกว่าระบบล้อ 3 วัน ลดต้นทุนค่าขนส่งประมาณ 20 % นอกจากนี้ยังจะเอื้อประโยชน์ให้กับพื้นที่อื่นๆอีกได้อย่างมากมาย

เอกชนบึงกาฬ ถก “กมธ.คมนาคม”  หนุนขนส่งทางราง  ดันสินค้าเกษตรบุกตลาดจีน

จากการติดตามข่าวด้านการขนส่งทางราง พบว่ามีบริษัทขนส่งเอกชนเปิดการขนส่งสินค้าทางรางไปเชื่อมต่อเข้ากับโครงการรถไฟจีน-ลาว ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดบริษัทลูกคือ บริษัท พาส พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PASS ได้เปิดทดลองการขนส่งสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท.

 นอกจากนี้ยังมีตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นสำหรับบรรจุพืชผักผลไม้ การเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไทย ไปยังตลาดกวางโจว ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับยางพาราของไทย จึงมีความคิดที่จะมีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มธุรกิจยางพาราในพื้นที่และใกล้เคียงว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการเปลี่ยนวิธีการขนส่งสินค้ายางพาราจากเดิม มาใช้การขนส่งทางระบบรางแทน
 

นายเจตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีระบบรางผ่านพื้นที่บึงกาฬไปยังหนองคาย จะใช้วิธีบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้นทางแล้ว บรรทุกรถยนต์ไปขึ้นรถไฟที่สถานีนาทา จังหวัดหนองคาย ซึ่งประหยัดเวลา ค่าขนส่งถูกกว่าระบบล้อ แล้วไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งนี้ทางจังหวัดได้จัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ในบริเวณโครงการก่อสร้างสะพาน สำหรับจัดทำเป็นพื้นที่รวมกองสินค้าส่งออก (CY) ผ่านสะพานอยู่แล้ว ซึ่งสามารถขยายพื้นที่ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ คณะ กมธ.การคมนาคม ให้ข้อเสนอแนะว่าพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดชายแดน น่าจะมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ จึงได้เสนอข้อมูลให้ กมธ.คมนาคมว่า จังหวัดบึงกาฬได้รับการคัดเลือกจาก การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ที่เหมาะสมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ในอนาคตน่าได้รับการสนับสนุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ และการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเช่นพื้นที่ชายแดนอื่นๆ

พร้อมกันนี้ได้เสนอข้อมูลก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ ซึ่งทางจังหวัดบึงกาฬได้จัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ทำการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้แล้ว รวมทั้งรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงสายอุดรธานี-บึงกาฬ และก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บ่อลิคำไซ) ณ เดือนมีนาคม 2566 ความก้าวหน้าอยู่ประมาณ 79% เร็วกว่ากำหนดประมาณ 1 %