แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วานนี้ (12 มิ.ย.66) 1 ใน เครือข่ายสหกรณ์ ผู้ประกาศราคาไข่ไก่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้โทรศัพท์สายตรงถึงผู้บริหารของกรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ เป็น 4 บาท/ฟอง นั้นทางกรมการค้าภายในยังไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะกระทบกับประชาชน หากมีผู้ค้า หรือฟาร์มรายใด มีการฉกฉวยขึ้นราคา ก็จะมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
ด้าน นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ในช่วง 3-4 วันมานี้มีข่าวเรื่องราคาไข่แพงจากหลากหลายที่ แต่ส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าในระดับท้องถิ่นสาเหตุมาจากอะไรทั้ง ๆ ที่ราคาไข่ขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว บางที่บอกขึ้นมา 8 ครั้งแล้ว แต่แปลกตอนราคาลงมากี่ครั้งไม่พูดถึง ตราบใดไม่เอาข้อเท็จจริงมาพูดกันเช่นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ไม่สามารถกำหนดราคา หรือปรับขึ้นเองได้ ต้องอาศัยตลาดซึ่งรวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ค้าด้วย
อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ไม่มีใครพูดถึงต้นทุนการผลิตสูงที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ผลิตและเกษตร ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ขณะที่ผู้ค้าเคยกำไรฟองละ 5 - 10 สตางค์ ซึ่งหากยังเป็นแบบเดิมเกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นต้องปล่อยให้ขึ้น-ลงตามกลไกตลาด อย่ามองว่าคนเลี้ยงซึ่งเป็นเกษตรกรจะร่ำรวยเกินไปเลย ในโลกของความเป็นจริงคนเลี้ยงมีอยู่หลายกลุ่มแต่ละกลุ่มมีข้อดีและข้อเสียเปรียบในความพร้อมด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว
ทุกวันนี้ถามว่า รายเล็กรายน้อยจะไม่เอาไว้ในระบบแล้วใช่หรือไม่ โดยเสียเปรียบทั้งต้นทุนที่สูงกว่า ทั้งถูกเอาเปรียบในระบบตลาด ขาดอำนาจต่อรอง จึงเป็นเหยื่อของระบบการค้าที่ขาดคุณธรรม ซึ่งตอนราคาไข่ปรับตัวลดลง ผู้เลี้ยงขาดทุน และยังถูกพ่อค้ากดราคาไม่จบไม่สิ้นไปอยู่ที่ไหน ไม่ช่วยโวยวายแทนคนเลี้ยงบ้าง
“ผมพูดมาตลอดตลาดไข่มีขึ้นมีลงเหตุปัจจัยขึ้นได้ลงได้มันมีที่มาที่ไปทั้งสิ้นเช่นอยากให้คนเลี้ยงมีกำลังใจผลิตไข่ป้อนตลาดต้องลดต้นทุนลง เช่น อาหารสัตว์ ทำไมปล่อยให้ราคาขึ้นแบบบ้าเลือด 30-40% จะอยู่กันได้อย่างไร ที่ต้องทำก่อนทำทันที คือ ลดภาระ ลดภาษีกากถั่วเหลือง ข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องจี้ให้ถูกจุด"
ทั้งนี้ควรปรับลดภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์และให้นำเข้าได้เสรี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ให้ถูกลง ไม่ใช่มาพูดที่ปลายเหตุว่า ไข่แพง ๆ เกษตรกรคนปลูกถั่วเหลือง ปลูกข้าวข้าวโพดก็เอาภาระตรงนี้มาให้เกษตรกรทั้งผู้เลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำที่ต้องใช้วัตถุดิบข้างต้นต่างรับภาระแบกไว้นานแสนนานมาแล้วมีใครรู้บ้าง ดังนั้นต้องช่วยกันแก้ที่ต้นเหตุ ขณะที่คนเลี้ยงไม่เคยได้ขายไข่ราคาเกินถาด (30 ฟอง) ละ 105-110 บาทที่ขายให้คนกินที่บอกแพง
ใครเป็นคนขายไข่ที่ออกจากฟาร์มและที่ขายให้คนกินมันเพิ่มกี่เปอร์เซนต์ คนเลี้ยงมีความเสี่ยงในการเลี้ยงมากน้อยแค่ไหนรู้บ้างไหมไหนจะโรคระบาดมาเป็นระยะๆสร้องความเสียหายคนเสียหายร้องไม่ออกได้แต่เงียบเสียทนได้ทนทนไม่ได้ก้อเลิกไปแบบไม่มีโอกาสลาคนในวงการในรอบ10ปีที่ผ่านมาต่างรับรู้ว่าไม่เว้นรายใหญ่ๆก็โดนเต็มๆ พูดไม่ออกแต่ต้องจากอาชีพคนเลี้ยงแบบแทบไม่ได้ลาเช่นกัน
"ตามที่พวกเรารู้ๆ กันอยู่ ผมพูดมาทั้งหมดไม่ต้องการความเห็นใจตอนนี้โดนรุมมาที่คนเลี้ยง ขอไปแล้วและขอให้ทำทันทีโดยเฉพาะเรื่องภาษีนำเข้าอาหารสัตว์และอนุญาตนำเข้าเสรีอีกเรื่องคนเลี้ยงฝากมาขอราคาทั้งปีได้ไหม เวลาไข่ลงห้ามลงแม้ช่วงต้นปีประกาศราคาฟองละ 3.00 บาทติดลบมาแล้ว แต่ไม่เป็นไรเอาแต่ต่อไปประกันไว้ทั้งปีเอาหรือไม่" นายมาโนช กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งข่าวสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้ผู้ใหญ่ในสมาคมฯ น่าจะคุยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการกำหนดราคา ขายส่ง-ขายปลีก ไข่แต่ละเบอร์ ณ ราคาประกาศ ช่วงนั้น เช่น ราคาประกาศวันนี้ 3.80 บาท/ฟอง กรมห้ามขายเกินราคาสูงสุดเท่าไร ควรห้ามขายราคาต่ำสุด ของไข่เบอร์นั้น ๆ ด้วย ให้มีผลตามห้าง ร้าน ตลาดให้ราคาอยู่ในกรอบคุมไข่ผี ไข่เถื่อน เหมือนกรณีหมูเถื่อน
ขณะที่แหล่งข่าววงการไก่ไข่ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าช่วงนี้มีกระแสแรงที่จะมีการปั่น ปรับราคาไข่ไก่ขึ้น ก็มาจากบริษัทขายพันธุ์ไก่ ต้องการขายลูกไก่ออกไปให้มากที่สุด เพิ่มแรงจูงให้เกษตรกรเพิ่มการเลี้ยง เป็นธรรมดาของการค้าขาย ส่วนอีกด้านที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพ่อค้าในระดับท้องถิ่นทำไบางที่บอกขึ้นมา 8 ครั้งแล้ว สาเหตุมาจากอะไรทั้ง ๆ ที่ราคาไข่ขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว
"ยอมรับว่าเป็ฺนเรื่องจริง เพราะกลัวเสียลูกค้า (พ่อค้ารายย่อย) ที่รับไปขายตามตลาดนัด ตลาดสด จะรับสภาพราคาไม่ทันที่จะปรับขึ้นทีเดียว แผงละ 6 บาท ผู้ค้ารายกลาง ก็จะค่อยๆ ปรับราคาขึ้นเที่ยวละ 2-3 บาท ส่วนต่างที่เหลือราคาล้งใหญ่-ล้งขนาดกลาง ก็รับไว้เอง นี่คือเหตุผล"