สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 59,638.4 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกันในตลาดจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย เกิดอะไรขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศอย่างไรบ้างนั้น
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยที่ลดลง มีปัจจัยสำคัญจากความต้องการของตลาดจีนที่เป็นตลาดหลัก (สัดส่วนมากกว่า 60%) หดตัวลง สาเหตุมาจากราคาธัญพืชในประเทศจีนตกตํ่า ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อชั่วคราว แต่คาดจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ราคาหัวมันสำปะหลังในประเทศในเวลานี้ถืออยู่ระดับที่ดี จากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว โดยราคาหัวมันสด (10 ก.ค. 66) ณ โรงแป้ง เชื้อแป้ง 25% เฉลี่ย 3.05-3.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งผลจากราคาที่ดี ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เร่งเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังก่อนครบอายุ และเร่งการเพาะปลูกจนมองข้ามความสำคัญในการรักษาท่อนพันธุ์ที่ดีไว้ ประกอบกับภาวะภัยแล้งยาวนานทำให้ท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้เพาะปลูกเสียหาย เกิดภาวะขาดแคลนท่อนพันธุ์ที่ดีและปลอดโรค จากราคาที่เคยซื้อท่อนพันธุ์ละ 2-3 บาท ขณะนี้ราคาขึ้นไปท่อนพันธุ์ละ 5 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
“ทางคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ที่มีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีการประเมินความเสียหายจากภาวะแล้งจัด ในช่วงต้นปี 2566 คาดมันสำปะหลังจะได้รับความเสียหายประมาณ 50% ของที่ปลูกไว้ ขณะที่ในหลายพื้นที่เริ่มปลูกใหม่ที่ช่วงเดือนพฤษภาคมหลังจากมีฝนตก คาดจะมีผลทำให้เลื่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูการผลิตใหม่ออกไปอีกประมาณ 2-3 เดือนจากภาวะปกติ”
นายเติมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีโรคใบด่างมันสำปะะหลังระบาดในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ฉะเชิงเทราชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว เพชรบุรี และกาญจนบุรี จำนวน 44,125 ไร่ จากสาเหตุดังกล่าวจะส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังในปีการผลิต 2566/67 จะมีปริมาณลดลงเป็นอย่างมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ด้านนายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า แม้ทางโรงงานจะช่วยส่งเสริมท่อนพันธุ์มันสำปะหลังให้เกษตรกรไปปลูก แต่ปัจจุบันท่อนพันธุ์ขาดตลาด และราคาแพงมาก ตรงนี้เป็นปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างกังวล โดยบางโรงงานพยายามรวบรวมกลุ่มเกษตรกรแล้วสนับสนุนให้ปลูกท่อนพันธุ์สะอาด (ท่อนพันธุ์จากแปลงผลิตพันธุ์ที่มีการป้องกันและกำจัดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว) แต่ก็ทำได้แบบจำกัด หากได้รัฐบาลใหม่แล้วจะนำเสนอในเรื่องนี้เพื่อให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรคเพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันผลผลิตมันฯไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการส่งสัญญาณมาหลายปีแล้ว ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ ควรให้ความสำคัญ จากค่าเฉลี่ยผลผลิต ณ ปัจจุบัน 3.4-3.5 ตันต่อไร่ ยังตํ่าเกินไป ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็น 5 ตัน ดังนั้นควรเพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ส่วนใหญ่ดินเป็นกรด ทำให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้น้อย ได้ผลผลิตต่อไร่ตํ่า รวมทั้งปัญหาแหล่งนํ้า ที่กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่าอาจจะแล้งยาวไปถึง 2 ปี ภาครัฐควรจะวางแผนการบริหารใช้นํ้า เพื่อให้เกษตรกรใช้นํ้าอย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
นายธีระ กล่าวว่อีกว่า ปัจจุบันโรงงานมันสำปะหลังภาคอีสาน 23 โรง ไม่รับซื้อมันสำปะหลังพันธุ์ 89 หรือมีชื่อเป็นทางการ พันธุ์ CMR 43 -08-89 แม้ว่าจะให้ผลผลิตสูง แต่มีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งค่อนข้างตํ่า เวลาโรงงานนำมาใช้ผลิตเป็นแป้ง หรือมันเส้นจะได้ตํ่ามาก และที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค พอมีเรื่องโรคใบด่างฯ ส่วนใหญ่จะพบการระบาดทั้งแปลง และจะเป็นแหล่งรวมโรคอื่นอีกด้วย
สอดคล้องกับนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้เตรียมการหากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว จะนำเสนอขอจัดสรรงบประมาณสนับสนุน 420 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 5.24 แสนครัวเรือน ใน 3 เรื่องคือ 1.ขอสนับสนุนระบบนํ้าหยด 30,000 ไร่ๆ ละ 5,000 บาทเป็นเงิน 150 ล้านบาท 2.ขอสนับสนุนงบจัดซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด 50 ล้านลำ เป็นเงิน 150 ล้านบาท และ 3.ของบสนับสนุนการขยายพันธุ์มันสำปะหลังชนิดต้านทานโรคไวรัสใบด่าง 120 ล้านบาท เพื่อขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,904 วันที่ 13-15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566