สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ครั้งที่ 2/2565 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา หัวข้อที่ 4.3 แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่มีการระบุเรื่องการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Polyethylene (Bio-PE)
โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ปูนซีเมต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Braskem ที่ได้มีข้อเสนอว่า “การผลิต Bio-PE ต้องใช้เอทานอลที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน” พร้อมทั้งเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา “ยกเว้นภาษีสำหรับเอทานอลที่นำเข้า และยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับเอทานอลทั้งที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศ” ที่ผ่านมา นั้น
นาย รังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความกังวลในการข้อความที่กล่าวอ้างดังกล่าว ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าการผลิตเอทานอลภายในประเทศไทยเป็นการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การนำเข้าเอทานอลจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยยังคงมีอุปทานส่วนเกินในการผลิตเอทานอลอยู่มาก โดยที่นโยบายในเรื่องมาตรฐานความยั่งยืนที่กล่าวถึงยังคงไม่มีความชัดเจน
การกล่าวอ้างเรื่องความยั่งยืนดังกล่าว เมื่อถูกเผยแพร่ออกไปและนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นอย่างกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลของประเทศไทย ถือเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่งสำหรับผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตเอทานอล และจะส่งผลกระทบไปยังผลิตภัณฑ์ต่อยอดอื่นๆของวัตถุดิบดังกล่าว อาทิเช่น น้ำตาล น้ำเชื่อม มันสำปะหลังเส้น แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
นายรังษี กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก มูลค่าปีละ 320,000 ล้านบาท และเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังเส้นและแป้งมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงผลกระทบการจ้างงาน การต่อยอดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อให้สอดคล้องกับ BCG model หากเกิดผลกระทบต่ออ้อยและมันสำปะหลังจากกรณีดังกล่าว ย่อมทำให้ผลิตภัณฑ์จากอ้อยและมันสำปะหลังที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
นายรังษี กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ทาง 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย, สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง, สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และ สมาคมชาวไร่อ้อย จะไปยื่นหนังสือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ต่อไป