จากที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำ “โครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปี 2566” ให้แก่ 1.ผู้เลี้ยงสุกร ไม่เกิน 5,000 ตัว 2.ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไม่เกิน 100,000 ตัว 3.ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไม่เกิน 100,000 ตัว รายละไม่เกิน 10,000 บาท ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 1 บาท ปริมาณรายละไม่เกิน 10 ตัน และไม่เกินกรอบวงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการอาหารสัตว์ที่ได้รับอนุมัติไว้ 8 ล้านบาท ระยะเวลา (7 ก.ค.-6 ส.ค.2566) ระยะเวลา 1 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูปที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการนี้ไม่ผ่านทางสมาคมผู้ผลิตอาหาารสัตว์ เป็นการประสานโดยตรงกับผู้ประกอบการอาหารสัตว์รายบริษัท ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าธุรกิจอาหารสัตว์มีการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือเอเยนต์กระจายสินค้าออกไป มีกี่รายที่สามารถขายได้ และในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการแต่ละรายก็ไม่ได้ขายดีทุกยี่ห้อ/แบรนด์ แต่ขายได้บางแบรนด์เท่านั้น ซึ่งมีบางบริษัทที่ไปบอกกับกรมฯว่าพอมีสินค้าที่สามารถขายได้ แต่เกษตรกรก็ไม่ทราบในรายละเอียดว่ามีกี่แบรนด์ ซึ่งอาจจะหาซื้อได้หรือไม่ได้ตามความต้องการ และการซื้อขายแบบนี้ก็ไม่ได้ลดราคา
“การค้าแบบนี้ตัดพ่อค้าออก ทำนองคล้าย “สลากกินแบ่งรัฐบาล” เวลาพิมพ์ออกมาเยอะมาก แต่จะให้กองสลากขายโดยตรง คนละ 1 ใบ หรือ 2 ใบ ทำได้หรือ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีเอเยนต์รับช่วงไปขายต่อเป็นทอดๆ ไป จะตัดช่วงตรงนี้ออกเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้นโครงการนี้อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ เพราะระยะเวลาสั้นเพียง 1 เดือน รัฐช่วยเรื่องค่าขนส่ง ถือว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ ดีกว่าไม่มีโครงการอะไรเลย”
นายพรศิลป์ ยังกล่าวถึง กรณีล่าสุดประกาศไม่ต่ออายุข้อตกลงเปิดทะเลดำเพื่อให้เรือขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนได้อย่างปลอดภัย โดยหากมีเรือใดๆ ที่เข้าไปในเขตทะเลดำ ถือว่าเป็นเรือบรรทุกอาวุธช่วยยูเครนนั้นสถานการณ์ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งทางผู้ประกอบการคงไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะหากมีคำสั่งซื้อไปไม่รู้จะได้สินค้าหรือไม่ จากสถานการณ์มีความไม่แน่นอน หรือถ้าสินค้าโหลดลงเรือได้ราคาก็จะสูงขึ้นจากค่าความเสี่ยง ดังนั้นทางผู้ประกอบการอาหารสัตว์เสี่ยงจึงมองหาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากแหล่งอื่นทดแทนมากกว่า ซึ่งเวลานี้มีความน่าเป็นห่วงในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และปรับขึ้นราคาอีกทั้งข้าวโพดในประเทศและที่นำเข้าจากเมียนมา ซึ่งจะเข้าสู่โหมดเดิมคล้ายปีที่แล้ว
“วิธีแก้ปัญหาต้องมาจัดการภายในประเทศ หากในอนาคตราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มราคาปรับขึ้น กรมการค้าภายในจะใช้วิธีการคำนวณผลผลิตในประเทศที่ได้ประมาณ 5 ล้านตัน จากความต้องการ 8 ล้านตัน ถ้าไม่ปล่อยให้นำเข้ามาเลย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจจะราคาสูงขึ้นไปถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม เพราะขาดตลาด จะเรียกราคาเท่าไรก็ได้ หรือไม่โรงงานอาหารสัตว์ก็ต้องหยุดการผลิต อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ไม่ให้ขึ้นราคาอาหารสัตว์ เพราะกลัวว่าเนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ จะราคาขึ้น ดังนั้นเพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวลง คำถามคือจะนำเข้า 3 ล้านตันจากที่ไหนหรือใช้อะไรทดแทนเพิ่มขึ้นได้”
ทั้งนี้หากเป็นข้าวสาลี อาจจะนำเข้ายากจากสงคราม(ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีสัดส่วน 10% ของโลก) ก็ให้นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา โดยกำหนดเบื้องต้นอาจจะ 1 ล้านตัน นำเข้ามาก่อน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเมียนมาจะขายตามราคาตลาดโลก ไม่ใช่ขายถูก แต่หากเกรงจะกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ก็ให้กรมการค้าภายใน ขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า เมื่อได้จำนวนบริษัทผู้นำเข้าแล้ว ให้กำหนดโควตาแต่ละบริษัทที่นำเข้า ว่าในแต่ละปีจะให้นำเข้าปริมาณเท่าไรเพื่อทดแทนที่ขาดแคลน หากบริษัทใดไม่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าให้ถือว่าลักลอบ ส่วนบริษัทใดเคยนำเข้ามาแล้ว ก็ปล่อยโควตาให้มากขึ้น ส่วนรายใหม่ก็ให้โควตาตามสัดส่วนที่เหลือ ซึ่งการกำหนดการนำเข้าแบบนี้จะช่วยควบคุมราคาอาหารสัตว์ได้
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวอีกว่า ราคาสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ ในภาพรวม ของเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวลงมา แต่ยังถือว่าราคาสูงอยู่มาก ผลผลิตชุดใหม่ในฝั่งตะวันออกค่อนข้างล่าช้าคาดจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ส่วนข้าวโพดในประเทศไทย ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ อาจจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นอีกครั้ง
ส่วนสถานการณ์การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยปี 2566 ในส่วนของข้าวโพด เปิดให้นำเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ปริมาณนำเข้าสิ้นสุด ณ พฤษภาคม อยู่ที่ 7.77 แสนตัน ส่วนปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี ยังคงต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมการนำเข้า 3 : 1 ส่วน (ซื้อข้าวโพด 3 ส่วนแลกนำเข้า 1 ส่วน) ปริมาณนำเข้าสิ้นสุด ณ พฤษภาคม อยู่ที่ 9.34 แสนตัน แต่มีการนำเข้ามาต่อเนื่อง เนื่องจากประเมินว่าผลผลิตข้าวโพดไทยออกล่าช้าและเสียหาย บางพื้นที่แล้ง ฝนตกล่าช้าและทิ้งช่วงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพด
ตลาดชิคาโก หรือ Chicago Mercantile Exchang (CME) และ Chicago Board of Trade (CBOT) ตลาดชิคาโก รายงานสถานการณ์สินค้าเกษตร เมื่อวันที่ วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 จับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้ ทำให้ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,908 วันที่ 27-29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566