วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลอินเดีย ได้สั่งยุติการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวภายในประเทศ และสกัดการปรับตัวขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศที่ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ส่งผลราคาข้าวเปลือกในประเทศไทยได้รับอานิสงส์ราคาปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 16 ปี
นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของไทย และในฐานะรองเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมาตรการของรัฐบาลอินเดียดังกล่าว คนในวงการค้าข้าวไม่ค่อยตื่นเต้นนัก เพราะแต่ละรายมีสต๊อกข้าวขั้นตํ่าอยู่ในมืออย่างน้อย 2-3 เดือน ขณะที่ก่อนหน้านี้อินเดียก็เคยหักหลังคนทั้งโลกมาแล้ว โดยแบนส่งออกข้าวเพียง 2 เดือน แล้วก็หยุดแบน
“มองว่ายอดส่งออกช่วงนี้จะปรับตัวลดลง เพราะผู้ส่งออกไม่กล้าขาย ลูกค้าก็ไม่กล้าซื้อ ความจริงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวในตลาดตํ่ากว่าปกติ เพราะตกใจไม่กล้าซื้อไม่กล้าขายกัน ปกติเวลาราคาข้าวขึ้น 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตลาดในประเทศจะต้องมีการซื้อขายกันอย่างน้อยถึง 1 แสนตัน ระหว่างผู้ส่งออกกับโรงสี แต่ทุกวันนี้ผู้ส่งออกกับโรงสีจำนวนการซื้อขายน้อยมาก ประเมินแล้วหลักหมื่นตัน ซึ่งการส่งออกข้าวจะกลับฟื้นคืนมาจะต้องมีความชัดเจนมากขึ้นว่าการส่งออกข้าวของอินเดียจะมีทิศทางอย่างไร”
สำหรับอินเดีย ในแต่ละปีมีการส่งออกข้าวขาวประมาณ 6 ล้านตัน ในครึ่งแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 3.3 ล้านตัน หากอินเดียไม่ส่งออกเลยในครึ่งปีหลัง ข้าวในตลาดก็จะหายไปเพียง 3 ล้านตัน ซึ่งจากข่าวอินเดียแบนส่งออกข้าวขาว ทำให้วงการข้าวตื่นตระหนก และตั้งคำถามอินเดียจะแบนถึงเมื่อไร ส่วนตัวคาดจะแบนส่งออกถึงช่วงข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวประมาณปลายปีนี้ หากผลผลิตออกมาปกติ ก็จะยกเลิกการแบน อย่างนานที่สุดคาดไม่เกิน 6 เดือน
“ผมประเมินเขาอาจจะแบนถึงแค่เดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายนนี้เท่านั้น ก็เท่ากับว่ามีข้าว 3 ล้านตันที่จะหายไปจากตลาดค้าข้าวโลก แต่ถ้าสถานการณ์พลิกผัน รัฐบาลอินเดียให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกได้เฉพาะที่เปิดคำสั่งซื้อได้ ซึ่งมีอยู่ในมือคาดว่า 2.5 แสนตัน แล้วถ้าส่งออกข้าวได้ในส่วนนี้ก็ไม่ขาดตลาด แต่ก็คาดเดาไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลอินเดีย แต่ถ้าประเมินย้อนไปในค้าข้าวโลกที่มีวิกฤติช่วง 15 ปีที่แล้ว หากเทียบกับปีนี้ สต๊อกข้าวโลกมีมากกว่า ที่สำคัญแต่ละประเทศมีบทเรียนช่วงโควิด เชื่อว่าทุกประเทศมีคลังสต๊อกข้าวระดับหนึ่งไม่ถึงขั้นทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าอินเดียมาแบนข้าวนึ่งต่อก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่มากกว่า
“สาเหตุที่อินเดียแบนข้าวส่งออก เพราะช่วง 3 ปีที่แล้ว อินเดียส่งออกข้าวเกินจาก 10 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านตัน ทำให้การค้าข้าวโลกพุ่งไปถึง 50 ล้านตันข้าวสาร จากเดิม 40 ล้านตันข้าวสาร ประกอบกับผลผลิตข้าวอินเดียมาเจอภัยแล้ง ผลผลิตเสียหาย และที่ผ่านมารัฐบาลก็มีการนำข้าวในสต๊อกมาแจกประชาชนฟรี มาเจอหลายสถานการณ์ก็ทำให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น โดยอินเดียส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านตัน ถ้าไม่ส่งออก 2 เดือน ก็ได้ข้าวเพิ่มในสต๊อก 4 ล้านตันแล้ว ซึ่งเท่ากับประเทศไทยส่งออก 6 เดือน”
อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกข้าวไทยต้องไม่ประมาท เพราะหากมีกระแสข่าวว่าอินเดียจะเปิดส่งออกบางส่วนราคาข้าวก็จะตกลงมา คงต้องจับตาว่าอินเดียจะแบนส่งออกข้าวไปถึงเมื่อใด จะทำให้ข้าวในตลาดขาดแคลนจริงหรือไม่ เพราะหากผู้ส่งออกไทยตัดสินใจขาย หากในระหว่างการเดินทางของการส่งมอบ อินเดียกลับลำหันมาส่งออกอาจจะขาดทุนได้
ด้าน นายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารปรับตัวสูงขึ้น และมีความต้องการต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย อิรัก อิหร่าน และฟิลิปปินส์ ซึ่งจากที่อินเดียประกาศหยุดส่งออก มองว่าคำสั่งซื้อจะมาที่ประเทศไทยมากขึ้น เป็นแรงส่งทำให้ราคาข้าวสารขาวในประเทศจาก 17,000 ตันต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 18,500 บาทต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 1,500 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้าก็ปรับตัวขึ้นไปที่ 11,200 -11,500 บาทตัน เทียบจากรัฐบาลเคยประกันราคาตันละ 10,000 บาท
ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ผู้ส่งออกข้าวใน 10 อันดับแรก (กราฟิกประกอบ) อันดับ 1 ยังเป็นกลุ่มเอเซีย โกลเด้นไรซ์ อันดับ 2 กลุ่มนครหลวงค้าข้าว และอันดับ 3 กลุ่มธนสรรไรซ์ คาดทั้งปีนี้การส่งออกข้าวของไทยในภาพรวมไม่ตํ่ากว่า 8.5 ล้านตัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3-5 สิงหาคม พ.ศ. 2566
สมาคมโรงสีข้าวไทย รายงาน ราคาข้าวเปลือก/ข้าวสาร ผ่าน เฟซบุ๊ก Thai Rice Mill Association ประจำวันวันที่ 4 สิงหาคม 2566 พบราคาข้าวเปลือกเขียวทั้งกระดาน ขณะที่ "ปลายข้าว" ราคาพุ่งแตะไปที่ 14 บาท/กก. กว่า คาดว่าจะเป็นราคาสถิติใหม่