นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางรัฐบาลประเทศอินเดียได้มีประกาศแบนการส่งออกข้าว ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยมีผลตั้งแต่เย็นวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.) ที่ผ่านมาเป็นความพยายามของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการควบคุมราคาอาหาร จากผลการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็ทำให้ ซึ่งจากการพิจารณาข้อความที่โพสต์ข้อความออกมามีจุดที่จะผ่อนปรนได้
เช่น หากเป็นประเทศที่ยากจน จะต้องไปเจรจากับรัฐบาลอินเดีย แล้วต้องไปขอซื้อในรูปแบบโควต้า โดยรัฐบาลอินเดียจะพิจารณาเป็นราย เป็นกรณี ซึ่งที่ผ่านมาก็มี กรณีแบบนี้ที่รัฐบาลอินเดียมีการเจรจาขายให้กับอินโดนีเซียว่าจะส่งข้าวให้ 1 ล้านตัน ดังนั้นหากประเทศไหนที่มีความต้องการจริงข้าว ก็ให้รัฐบาลนั้นไปเจรจาพูดคุยกัน แต่อย่างไรก็ดี ต้องประเมินอีกสักระยะหนึ่ง เพราะนโยบายอินเดียเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย
“หลังจากประกาศแล้ว ราคาข้าว ก็ดีดขึ้นทันที แต่ละรายสถานการณ์แตกต่างกัน บางรายที่ไม่ได้ขายล่วงหน้าไว้ ก็ไม่เป็นไร แต่พวกที่ขายล่วงหน้าไว้ก็ต้องซื้อของเข้ามาเก็บให้พร้อม ส่วนผู้ซื้อก็ต้องเร่งเรือมาเอาสินค้า สถานการณ์ตอนนี้จะวุ่นวายสักประมาณ 2-3 สัปดาห์ และทางคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทราบเรื่องแล้ว และกำลังให้ทางกระทรวงพาณิชย์มีการเช็กสต๊อกข้าวในประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวในประเทศมีเพียงพอ เพื่อไม่ให้ในประเทศขาดแคลน”
นายเจริญ กล่าวว่า มีความเชื่อว่าในตอนนี้ผู้ส่งออกไทยก็ไม่มีใครกล้าขาย เพราะราคาขึ้นรวดเร็วเกินไป มีความเสี่ยงสูง แล้วในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อินเดีย ประกาศใหม่ ส่งออกได้แล้ว ราคาก็จะปรับลงมา เพราะฉะนั้นในช่วงนี้คาดว่าจะไม่มีการซื้อขายเท่าไรนัก ผลพวงจากอินเดียประกาศแบนการส่งออกส่งผลทำให้ข้าวสารขาว 5% ปรับราคาขึ้นมาประมาณ 5% จากราคาขายที่ตันละ 17,000 บาท ปรับขึ้น เป็น 18,000 บาท/ตัน ก็ทำให้ข้าวเปลือกราคาขยับขึ้นเช่นเดียวกัน
“สิ่งที่จะพิจารณาว่าอินเดียแบนจริงหรือไม่ 2.ความต้องการในตลาดโลกเป็นอย่างไร และฤดูกาลผลิต ฝนมาดีหรือไม่ จะเก็บเกี่ยวเดือนหน้าอีกรอบหนึ่ง ซึ่งเป็นนาปรัง รอบ 2 ผลผลิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีปัจจัยต่างๆเยอะมาก รวมทั้งนโยบายเวียดนาม ด้วยจะเป็นอย่างไร และค่าเงินบาทไทย จากเหตุการณ์ในรอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนได้ประจักษ์แล้วว่า ผู้ส่งออก ไม่สามารถตั้งราคาข้าวเอง ไม่สามารถกำหนดราคาได้”
สอดคล้องนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือก วันนี้ (25 ก.ค.66) ตันละ 11,000-11,200 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 15-16 ปี ถ้าจำกันได้ ในปี 2550 หรือปี 2551 เกิดจากสต๊อกข้าวโลกลดลง ทุกคนตกใจว่าข้าวจะขาด ก็เลยทำให้แย่งกันซื้อข้าว จึงทำให้ราคาปรับขึ้นไปสูง พอทุกประเทศความต้องการเพียงพอ ราคาข้าวก็ทิ้งร่วงดิ่งเลย
“ปีนี้ ถือว่าเป็นปีทองชาวนาไทย ราคาข้าวพุ่งค่อนข้างจะรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้ อินเดียมีการเก็บภาษีนำเข้า 20% ส่งผลดีทำให้ราคาข้าวไทย ราคาห่างจากข้าวอินเดีย แค่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่ก่อนหน้านี้ราคาห่างกันราว 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดจะไปตามราคา ทำให้ข้าวอินเดียแพงขึ้น แล้วมาประกาศแบนส่งออกอีก เป็นข่าวดี ที่ประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์ เพียงแต่ว่าในราคานี้จะคงอยู่ในตลาดได้นานหรือไม่ ต้องติดตาม”
เฟซบุ๊ก สมาคมโรงสีข้าว รายงานสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก/ข้าวสาร ณ วันที่ 24-25 ก.ค.2566