สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง ได้มีหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอให้พิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการขยายการเลี้ยงไก่ของบริษัท เบทาโกรเกษตร อุตสาหกรรม จำกัด เกิน 300,000 ตัว เนื่องจากข้อชี้แจงของบริษัทฯ ยังไม่ชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้
1.การยกเลิกโครงการเลี้ยงไก่ไข่ประกันราคาภาคกลาง ในปี 2561 – 2563 และขยายโครงการในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นระบบเกษตรพันธสัญญาตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้มีการแจ้ง/ส่งมอบสัญญา/แจ้งยกเลิกสัญญาตามระบบหรือไม่ 2.การยกเลิกโครงการแล้วไปขยายใหม่ บริษัทฯ ได้มีการจัดทำแผนการผลิตและการตลาด ตามมติ Egg Board แล้วหรือไม่ (และมีเอกสารแสดง สิทธิการยกเลิก จริงหรือไม่ ขอให้กรมปศุสัตว์ ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง)
ล่าสุดวันที่ 10 สิงหาคม 2566 คณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด / Egg Board) โดยกรมปศุสัตว์ ได้จัดประชุมวาระด่วนเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว และให้ทางผู้บริหารเครือเบทาโกรได้ชี้แจง สาระสำคัญ คือการสร้างฟาร์มไก่ไข่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีสาระสำคัญ ดังนี้ 2.1 ประเด็นการก่อสร้าง เป็นการขยายพื้นที่การเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณ การผลิต
ในเรื่องนี้บริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างฟาร์มไก่ไข่สองพี่น้องซึ่งภายในฟาร์มประกอบด้วย ฟาร์มไก่สาว จำนวน 4 โรงเรือน ๆ ละ 45,000 ตัว ฟาร์มไก่ไข่ จำนวน 14 โรงเรือน ๆ ละ 42,860 ตัว (รวม 600,040 ตัว) และ โรงคัดไข่ กำลังการผลิต 480,000 ฟอง/วัน ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อทดแทนโครงการไก่ไข่ประกันราคาในเขตพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ พื้นที่การเลี้ยงในจังหวัดนครปฐม จำนวน 482,046 ตัว และจังหวัดนครนายก จำนวน 200,000 ตัว รวมจำนวนแม่ไก่ทั้งสิ้น 682,046 ตัว
ทั้งนี้เกษตรกรทั้งสองเขตพื้นที่ได้ยกเลิกโครงการระหว่างปี 2561 – 2563 ฟาร์มไก่ไข่สองพี่น้องจึงสร้างมาเพื่อทดแทนพื้นที่เดิม ไม่ได้ขยายพื้นที่การเลี้ยงใหม่แต่อย่างใด
2.2 ประเด็นการนำไข่จากที่ไหนมาจำหน่าย ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างที่โครงการไก่ไข่ประกันราคาภาคกลางยกเลิกโครงการ และหลังสร้างฟาร์มจะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร บริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า หลังจากยกเลิกโครงการไก่ไข่ประกันราคาภาคกลาง บริษัทฯ ได้ขยายโครงการและจัดสรรไข่จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มาจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค โดยมีแผนงานจะลดการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เพื่อให้ปริมาณการผลิตสอดคล้องกับปริมาณการผลิตของฟาร์มไก่ไข่สองพี่น้องที่เพิ่มขึ้น
2.3 ประเด็นช่องทางการจำหน่าย ที่ผู้ร้องเรียนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาไข่ในพื้นที่ บริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีไข่ไม่เพียงพอจำหน่าย เนื่องจากมีช่องทางการจำหน่ายหลายช่องทาง โดยฟาร์มไก่ไข่สองพี่น้อง จะเน้นตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะขายผ่าน modern trade food service และร้านค้าเบทาโกร ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายของบริษัทเอง (Own Channel)
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้นำไข่จากพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมาจำหน่ายทดแทนไข่จากโครงการไข่ประกันราคาของภาคกลางที่ยกเลิกไป ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ พร้อมโชว์หลักฐาน แผนการผลิตแม่ไก่ยืนกรง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าเป็นจำนวนแม่ไก่ใกล้เคียงกับตัวเลขเดิม