ผู้สื่อข่าวรายงาน(11 ส.ค. 2566) คณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงเดินหน้าปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมเข้าพบทูตเกษตรหลายชาติ เพื่อชี้แจงผลกระทบที่เกิดจาก “ปัญหาหมูเถื่อน” พร้อมตอกย้ำว่าประเทศไทยมีผลผลิตสุกรเพียงพอและไม่มีกฎหมายอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกร และขอฝากสื่อสารไปถึงบริษัทผู้ส่งออกสุกร และเกษตรกรแต่ละประเทศให้ระมัดระวังการทำผิดกฎหมาย โดยจะเข้าพบทูตเกษตรบราซิลเป็นรายแรกในวันที่ 15 สิงหาคมนี้
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ปัญหาหมูเถื่อนในประเทศไทยกำลังมีการสอบสวนดำเนินคดีกันอย่างเข้มข้น ขณะที่ในระหว่างประเทศ มองว่าควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้จำนวนหมูเถื่อนมีมากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่เช่นกัน คณะกรรมการสมาคมฯ จึงร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องสื่อสารไปยังประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกร เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยมีผลผลิตสุกรอย่างเพียงพอและไม่มีการอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกรอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้กรรมการสมาคมฯ มีกำหนดขอเข้าพบทูตเกษตรหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสุกรต้นทางที่ปรากฏในกล่องของกลางหมูเถื่อนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล อาร์เจนตินา เยอรมนี และอื่น ๆ โดยในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 จะเข้าพบทูตเกษตรของประเทศบราซิลเป็นแห่งแรก
โดยประเด็นการเข้าพบหารือในครั้งนี้จะเป็นการให้รายละเอียดถึงผลกระทบจากการมีสินค้าสุกรลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก ซึ่งสุกรเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทยมากถึงราว 30-40% และเข้ามาแทรกตลาดสร้างผลกระทบต่อราคาสุกรหน้าฟาร์มของไทย เป็นเหตุให้เกษตรกรต้องขาดทุนสะสมมาเป็นระยะเวลานานร่วม 8 เดือน หลายรายต้องเลิกกิจการ สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบกว่าวันละ 150 ล้านบาท หรือราว 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นกว่า 30,000 ล้านบาทในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ในวงการปศุสัตว์โดยเฉพาะวงการไก่เนื้อของไทยและบราซิลนับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเข้าพบในทูตเกษตรบราซิลว่าด้วยเรื่องสุกรครั้งนี้ น่าจะเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมสุกรของทั้งสองประเทศให้รู้จักกันดีมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าหากอุตสาหกรรมสุกรของบราซิลเข้าใจผลกระทบต่าง ๆ แล้ว จะเกิดความร่วมมือด้วยดี น่าจะช่วยป้องกันการลักลอบส่งเนื้อสุกรเข้าไทยได้เช่นกัน
สำหรับการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐ สมาคมฯได้ขอความร่วมมือไปยังกรมปศุสัตว์ ช่วยทำหนังสือชี้แจงผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมสุกรของไทย แจ้งไปยังภาครัฐของประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรเหล่านั้นอย่างเป็นทางการด้วยแล้วเช่นกัน