หลังจากที่ประเทศอินเดีย ห้ามส่งออกข้าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นสูงขึ้น รวมทั้งสต๊อกข้าวโลกปี 66/67 มีแนวโน้มลดลง
ซึ่งทาง World Grain Situation and Outlook ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) เดือน พ.ค.2566 ประเมินว่าสต๊อกข้าวโลกจะอยู่ที่ 166.68 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีการผลิตก่อนหน้าถึง 8.56%
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวครึ่งหลังปี 66 สถานการณ์ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากรัฐบาลของอินเดีย ได้สั่งยุติส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ
และสกัดกั้นการขึ้นราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกหยุดชะงักเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากหลังจากประกาศแล้วราคาข้าวดีดขึ้นทันที
สถานการณ์ราคาข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา
เมื่อเปรียบเทียบราคาข้าวไทยกับเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญพบว่า ราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าเวียดนาม โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 648 ดอลลาร์ เวียดนามตันละ 618-622 ดอลลาร์
ขณะที่ราคาข้าวขาว 25% ของไทยอยู่ที่ตันละ 612 ดอลลาร์ และเวียดนามอยู่ที่ตันละ 598-602 ดอลลาร์
ทั้งนี้ทางเวียดนามในครึ่งปีแรกส่งออกข้าวไปมาก ดังนั้นในครึ่งปีหลังอาจส่งออกน้อยลงไม่ถึง 3 ล้านตัน แต่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวเวียดนาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้ประชุมว่าจะส่งออกข้าวเหมือนเดิมหรือไม่ จะมีข้าวพอบริโภคภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายจะส่งออกเหมือนเดิมแต่ปริมาณยังไม่แน่นอน
ทั้งนี้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่าการส่งออกครึ่งปีหลังไม่แน่นอนไม่ราบรื่น โดยเฉพาะนโยบายอินเดียที่อาจขายให้ประเทศที่ร้องขอในราคาที่ไม่แพงจะแย่งตลาดไทย
สำหรับการส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง 2566 จะถึง 4 ล้านตัน โดยครึ่งปีแรกส่งออกได้ 4.2 ล้านตัน รวมแล้วทั้งปีได้ถึง 8 ล้านตัน ตามเป้าหมาย แต่ต้องดูสถานการณ์ระหว่างนี้
ส่วนปัญหา "เอลนีโญ" ที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงต้องติดตามผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไทย ซึ่งช่วงนี้ยังมีฝนตกดีจึงรอดูเดือน ก.ย. เป็นต้นไป ที่ยังคาดไม่ได้
ทำให้รอดูข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. 66 และหากฝนทิ้งช่วงจะมีความเสียหายต่อผลผลิตข้าวได้