สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

20 ต.ค. 2566 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2566 | 07:55 น.

ช็อก “กรมปกครองส่วนท้องถิ่น” ยันปลูกยางขั้นตํ่า 80 ต้นต่อไร่ ต้องเสียภาษีที่ดิน กระทบเกษตรกรจ่ายภาษีบาน ระบุสวนยาง 21 ล้านไร่ยังไม่รู้เรื่อง สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ เตรียมยื่นเรื่องศาลปกครองกลาง เปิดไต่สวนฉุกเฉิน ระบุขัด พ.ร.บ.การยางฯ หวั่นเติมเชื้อไฟราคายางตกตํ่า

กรณี "สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย" ได้ส่งหนังสือ เรื่องขอให้พิจารณาการปรับอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรพืชยางพารา ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 เรื่องขอทบทวนการคิดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินขั้นตํ่า ในส่วนของการปลูกยาง จากอัตราขั้นตํ่า 80 ต้นต่อไร่ เป็น 25 ต้นต่อไร่

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

เนื่องจากข้อเท็จจริงการปลูกยางโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 ต้นต่อไร่ และจนถึงระยะเวลาที่ได้ผลผลิต 7 ปี จะมีต้นยางตายเหลือเพียง 50 ต้นต่อไร่ ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดคำจำกัดความคำว่า "สวนยาง" โดยเฉลี่ยต้องปลูกยางไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้นเท่านั้น ล่าสุดเรื่องนี้มีความคืบหน้า

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือกนย. เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้รับหนังสือจาก นายพงษ์ศักดิ์ กวีนันทชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารการคลังท้องถิ่น ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตอบกลับมาว่า ก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นกฎหมาย ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้เคยจัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพิจารณาหารือในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคิดเห็นในเบื้องต้นว่า การกำหนดจำนวนต้นยางพารา 25 ต้นต่อไร่ ตาม พ.ร.บ.การยางฯ มิได้หมายความว่า เกษตรกรจะต้องเริ่มต้นปลูกยางพาราจำนวน 25 ต้นต่อไร่

โดยระยะปลูกยางพาราที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 3 คูณ 7 เมตร หรือประมาณ 76 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นระยะปลูกที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้เพื่อให้ต้นยางพารามีพื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

โดยการปลูกยางพาราจะไม่มีการตัดสาง หรือตัดขยายระยะเพื่อลดจำนวนต้นเหมือนการปลูกไม้ป่าประกอบกับปัจจุบันประมาณร้อยละ 80-90 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดมีการปลูกยางพาราในอัตราประมาณ 76 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นจำนวนต้นยางพาราที่ให้ผลผลิตนํ้ายางลดลง

ทั้งนี้ ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนเพื่อปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2565 ได้กำหนดอัตราแปลงไม้ผลยืนต้นต่อเนื้อที่เพาะปลูก 1 ไร่ ของการปลูกยางพาราไว้ที่ 80 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นการปัดตัวเลขให้เป็นจำนวนเต็มสิบเพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของเกษตรกร และเป็นจำนวนเฉลี่ยของการปลูกยางพาราแต่ละสายพันธุ์

 

รวมทั้งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของพืชชนิดอื่นในบัญชีแนบท้าย ก ของประกาศฯ อ้างอิงมาจากอัตราแปลงไม้ผลไม้ยืนต้นต่อเนื้อที่เพาะปลูก 1 ไร่ ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2565 โดยไม่ได้มีการพิจารณาหักอัตราการตายของพืชชนิดนั้นออก

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

ดังนั้น หากมีการกำหนดอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของการปลูกพืชยางพาราโดยหักด้วยอัตราการตายของต้นยางพาราอาจเกิดความลักลั่นกับพืชชนิดอื่น ซึ่งจากผลการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว จึงได้ข้อสรุปว่า ให้คงอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของการปลูกยางพารา จำนวน 80 ต้นต่อไร่ ดังปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

"พอเห็นหนังสือตอบกลับ แล้วก็ตกใจ เพราะตอนนี้เกษตรกรยางพาราทั้งประเทศพื้นที่กว่า 21 ล้านไร่ ยังไม่รู้เรื่องเลย ส่วนเจ้าของที่ดินก็ต้องหักกับผู้เช่าที่เป็นเกษตรกร ซึ่งจะเริ่มเก็บภาษีสิ้นปีนี้แล้ว เกษตรกรไม่เคยเสียภาษี ครั้งนี้แหละจะโดนแล้ว และในอัตราที่สูงด้วย เพราะไม่จัดว่า เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วหากโดน เชื่อว่าจะทำให้เกิดม็อบชุมนุมยืดเยื้อแน่นอนหลังจากที่โดนเก็บภาษีแล้ว เหมือนมาซํ้าเติมกันในช่วงราคายางตกตํ่า"

 

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

นายอุทัย กล่าวอีกว่า จากเงินคงคลังของรัฐบาลมีน้อย อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เก็บภาษีจากเกษตรกร อย่างไรก็ดี จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้การเก็บภาษีสวนยางอยู่ที่ 25 ต้นต่อไร่ ซึ่งถือเป็นภาษีเกษตรกรรมแต่ระเบียบที่ออกมา ไปขัดกับพ.ร.บ.การยางฯ ดังนั้นจะไม่ยอมเด็ดขาด

ทั้งนี้ จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาตัดสินว่า ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ขัดต่อ พ.ร.บ.การยางฯ หรือไม่ และจะขอให้ชะลอเรื่องเอาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา

อนึ่ง กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งในบัญชีแนบท้ายประกาศ กำหนดชนิดพืช "ยางพารา" มีอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรต่อไร่ไว้ 80 ต้นต่อไร่ จะเสียภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี (อัตราตํ่าสุด)

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13-16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

 

อ้างอิง :

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

 

สวนยาง 21 ล้านไร่ ช็อก! “ปลูกขั้นตํ่า 80 ต้น/ไร่” ต้องเสียภาษีที่ดิน

 

 

 

พระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

พระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564