วันนี้ (19 สิงหาคม 2566) ที่ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยในงานเสวนาในหัวข้อ "ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย" ภายใต้งานนิทรรศการ "5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6" กรมวิชาการเกษตร
นายเกียรติชาย ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารนั้นได้รับผลกระทบจากภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรื่องของเอลนีโญเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องของน้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ฯลฯ วันนี้เรากำลังพูดถึง "โลกเดือด" กันแล้ว และเอลนีโญที่เจออยู่นี้ก็ไม่เหมือนเดิมจะมีสภาพที่รุนแรงมากกว่าเดิม เราจะใช้ตำราเดิมมาแก้ปัญหาในอนาคตไม่ได้
"วันนี้โจทย์ใหม่ของเราคงต้องคาดการณ์ว่า โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วทำอย่างไรการเกษตรของเราอยู่ได้แบบยั่งยืน ต้องลืมการทำแบบเดิมๆ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ โควิดที่ว่าทำให้เราชอกช้ำแล้ว ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นยิ่งกว่า ซึ่งภาคเกษตรของไทยนั้นมีส่วนร่วมอย่างมากในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย อาทิ การปลูกข้าวที่ใช้น้ำเยอะโดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ ๆ 30 ล้านตันต่อปี วันนี้เรากลายเป็นประเทศที่ถูกเพ่งเล็งจากการปลูกข้าวลักษณะนี้
ปัญหาที่สอง คือ การเกิด PM 2.5 ที่มาจากเผาพืชการเกษตร การเผาในป่าอุทยาน บวกกับการทำการเกษตรแบบของเราเอง
ปัญหาที่สาม คือ การทำปศุสัตว์ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งยุโรป อเมริกาและในออสเตรเลียว่า เป็นสาเหตุที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะและเริ่มเกิดกระแสการต่อต้านการกินเนื้อขึ้นมาแล้ว มีการประเมินกันว่า เลี้ยงวัวหนึ่งตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3 ตัน เป็นต้น รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมี ที่ทำให้ดินเสีย เกิดสารเคมีทำลายดินกลายเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
ในขณะที่ตัวผู้ซื้อเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นผู้กำหนดสเปคมากขึ้น ดังนั้น กรมวิชาเกษตรจึงจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องเหล่านี้แล้วนำมาทำแล้ว
"วันนี้ สินค้าเกษตรต้องเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งต่าง ๆเหล่านี้จะออกมาส่งผลกระทบมาถึงผลไม้ ข้าวและปศุสัตว์ตามมา ต่อไปจะต้องมีการขอให้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าเกษตร ที่เราเรียกว่า "คาร์บอนฟุตพริ้นท์" คือการมีส่วนร่วมในการทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปลูกข้าว การทำปศุสัตว์ ต่อไปต้องขายแบบสเปเชียล คือ มีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไรจึงจะขายได้
เพราะฉะนั้น วันนี้แนวความคิดของนวัตกรรม ต้องคิด ทำใหม่ โดยทำสินค้าใหม่ที่จะต้องเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อที่จะขายได้ ขณะที่ภาคพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดนั้นก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อขายพลังงาน วิธีการแก้เรื่องนี้ คือ ขายแบบขายพ่วง คือ ขายน้ำมันไปจะมีอุปกรณ์เก็บคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมาให้ด้วย เป็นต้น
ดังนั้น หากเราต้องการจะขายข้าวได้ ข้าวของเราก็ต้องสเปเชียลด้วย นั่นเป็นเพราะวันนี้โลกเรากลัวภัยเอลนีโญ ลานีญา ที่มีผลกระทบไม่เหมือนเดิม วันนี้ลามไปถึงประมงแล้วต่อไปพันธุ์ปลาต่าง ๆ จะสูญพันธุ์ เรากำลังกลัวไปถึงจุดสูญพันธุ์ที่สำคัญสายพันธุ์เดิมๆ จะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้แล้ว เนื่องจากอุณภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาพันธุ์จึงต้องเน้นเรื่องของการทนต่อสภาพแวดล้อม ทนอุณหภูมิสูงได้ รวมถึงภาคประมงที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ตามมาด้วย
"วันนี้เราปรับตัวอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าประเทศไหนสามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ ประเทศนั้นก็จะได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ๆ เกิดกองทุนที่เรียกว่า กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ กองทุนการปรับตัว ซึ่งกำลังเกิดขึ้นโดยในเดือนธันวาคมนี้จะมีการประชุม COP28 ที่จะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกัน
สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีศักยภาพและสามารถที่จะทำโครงการดีๆ ได้ ซึ่งเรียกว่า เครดิต ซึ่งถ้าเราทำได้ประเทศอื่น ๆ ก็จะสนับสนุน เพราะจะช่วยให้เขาเหล่านั้นรอดตัวด้วย เช่น การปลูกข้าวแบบใหม่ใช้น้ำน้อย หรือ ปลูกแบบเปียกสลับแห้ง หรือแบบไม่ใช้น้ำเลย เป็นต้น ก็อาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งก็จะกลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพงและขายดี
เราจำเป็นต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่จำเป็นต้องปลูกแบบเดิม เราอาจจะต้องปฏิรูปที่ดิน ดูว่าตรงไหนไม่มีน้ำแล้วปลูกพืชประเภทอื่น เป็นต้น เพราะฉะนั้น แนวความคิดในเชิงของการปฏิรูปนั้นก็เพื่อให้สอดรับกับแนวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นกระแสที่ทำให้เราได้เปรียบในการอยู่รอดและจะขายของได้ดีด้วย"
ทั้งนี้ แนะนำว่า สำหรับการทำเครดิตในภาคเกษตร "วนเกษตร" ซึ่งจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่เปล่าให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวและมีผลผลิตควบคู่กันด้วยจะทำให้รายได้เกษตรกรของเราดีขึ้น
ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย นอกเหนือจากการปรับตัวเป็นปี ๆ แล้วเอาตัวรอดไป การทำลักษณะนี้ก็จะได้ขายของได้ แต่ต้องมีมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยด้วย