วันนี้ (19 สิงหาคม 2566) ที่ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานเสวนา “ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” ภายใต้งานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” กรมวิชาการเกษตร
นายปีติพงศ์ ระบุว่า ปัญหาของความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญนั้น ตอนนี้มีความเป็นห่วง 3 เรื่องที่คิดว่าน่าจะเป็นผลกระทบจริง ๆ นั่นคือ เรื่องของการผลิต เรื่องระดับราคาของสินค้าเกษตรทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะทับถมขึ้นมาได้
สำหรับเรื่องแรกที่เป็นห่วง นั่นคือ เรื่องของสถานการณ์น้ำ หากไม่มีน้ำ จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านการผลิต และส่งผลกระทบกับชาวบ้านโดยตรง โดยที่ผ่านมามีการประเมินกันว่าผลกระทบนั้นจะยาว 2-3 ปี แต่ส่วนตัวมองว่า ผลกระทบแค่ปีเดียวก็แย่แล้ว และหากยาวนานถึง 2-3 ปี ก็นึกไม่ออกว่าต่อไปจะหาทางรับมืออย่างไร
“ตอนนี้ผลที่เห็นชัด ๆ คือ เรื่องข้าว พอเขาประกาศว่าไม่ให้ทำข้าวนาปรัง รายได้ของชาวบ้านจะลดลง การผลิตอื่น ๆ ก็ไม่แน่ใจว่า พวกอาหารสัตว์ ก็คงมีปัญหาเหมือนกัน และถ้ามันมีซ้ำกัน 2-3 ปี จะมีปัญหา เพราะฉะนั้นในแง่ของการผลิตเราก็คงต้องเตรียมการเอาไว้ก่อน” นายปีติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้มองว่า ในระยะสั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำนั้น นอกจากด้านอุปทาน คือทำยังไงให้มีน้ำพอ ควรต้องดูทางด้านอุปสงค์คือการลดความต้องการน้ำลงด้วย โดยเฉพาะการประหยัดน้ำ หรือการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนระยะยาวก็คงต้องหาวิธีการอื่น ๆ ที่จะรักษาน้ำผิวดิน รวมถึงการใช้น้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า เรื่องที่สอง คือ ระดับราคาของสินค้าอาจเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกร แต่ในทางกลับกันจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมทางด้านปศุสัตว์ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ จะมีต้นทุนมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องที่สาม คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะยาวผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะตามมามากขึ้น เช่น เราเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว หรือการเกิดไฟไหม้ป่ามากขึ้น จนเกิดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับโครงสร้าง และยังอาจส่งผลไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน จนอาจลุกลามเป็นปัญหาทางการเมืองภายหลังได้ด้วย
นายปีติพงศ์ ยังกล่าวถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ว่า ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น แสดงความสนใจเรื่องดังกล่าวอยู่ 5 ประเด็น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่กรมวิชาการเกษตร ควรต้องนำไปพิจารณา โดยประเด็นแรก คือ เรื่องสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีเกษตรกรสูงวัยมากขึ้น และควรหันมาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ประเด็นที่สองคือ เรื่องโลกร้อน ประเด็นที่สาม คือ เรื่องที่เกี่ยวกับอาหารและน้ำจืด ซึ่งขณะนี้น้ำจืดของเราเหลือน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่สี่ คือ โรคภัยใหม่ ๆ โดยเฉพาะโรคทางด้านภาคเกษตร เช่น โรคภัยใหม่ที่มาจากข้าว จากประมง ปศุสัตว์ และประเด็นสุดท้ายก็คือ เรื่องสงคราม ซึ่งคงไม่เลิกง่าย ๆ และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต ด้านราคา และด้านสิ่งแวดล้อม