10 ปีข้าวไทยทรุดหนัก อินเดีย-เวียดนาม เบียดแย่ง 3 ตลาดใหญ่เพิ่ม

29 ก.ย. 2566 | 05:47 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 05:58 น.

10 ปีแข่งขันส่งออกข้าวไทย ถอยหลังมากกว่าเดินหน้า 3 ตลาดหลัก “ตะวันออกกลาง-เอเชีย-อาเซียน”นับวันถูกอินเดีย-เวียดนามเบียดแย่งตลาด ขณะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจี้รัฐหนุนปลูก“ข้าวคาร์บอนต่ำ” สู้เวียดนาม

นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”ในปี 2554 นำมาซึ่งการเสียแชมป์โลกการส่งออกข้าวของไทยในปี 2555 จากราคาข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน ส่งผลให้อินเดียผงาดขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผ่านไปกว่า 10 ปีไทยยังไม่สามารถทวงบัลลังก์แชมป์คืนได้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และในฐานะที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การส่งออกข้าวของไทยมีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก ณ ปัจจุบันได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา สหรัฐฯ จีน กัมพูชา บราซิลและอุรุกวัย จาก 10 ปีก่อนหน้าผู้ส่งออกข้าวหลักของโลกมี 3 ประเทศคือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม สัดส่วนรวมกัน 72% แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของ 3 ประเทศส่งออกหลักลดลงเหลือ 65% (อินเดีย 37% ไทย 14% เวียดนาม 14%) ของปริมาณส่งออกข้าวโลก

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

“5 ปีล่าสุด ข้าวไทยและเวียดนามส่งออกลดลง ขณะที่ข้าวอินเดีย และข้าวจากประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวโลกเพิ่มจากปีละ 32 ล้านตัน เป็น 35 ล้านตัน โดย 5 ตลาดหลักของข้าวไทยคือ เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน โดย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดหลักคือตะวันออกกลาง สัดส่วน 60% แอฟริกา 20% และอาเซียน 15% ตามลำดับ”

อย่างไรก็ดี 5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดข้าวไทยเปลี่ยนแปลงไป เป็น “เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3” หมายถึง เพิ่มขึ้นใน 2 ตลาดคือ แอฟริกา และยุโรป แต่ลดลงใน 3 ตลาด คือ ตะวันออกกลาง เอเชีย และอาเซียน โดยตลาดตะวันออกกลางที่เคยครองอันดับ 1 เหลือ 25% มีตลาดแอฟริกาเข้ามาแทนที่เป็นอันดับ 1 สัดส่วนเพิ่มจาก 20% เป็น 40% และตลาดยุโรปอันดับ 2 เพิ่มจาก 5% เป็น 25% ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง เอเชียและอาเซียนลดลง โดยตลาดตะวันออกกลางลดลงจากคู่ค้าหันไปซื้อข้าวอินเดียเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดเอเชียและอาเซียนลดลงจากไปซื้อข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศในเอเชียและอาเซียนหันมาผลิตข้าวเอง

“ปริมาณและมูลค่าส่งออกข้าวไทยเคยส่งออกข้าวสารสูงสุดที่ 11 ล้านตัน (ปี 2560-2561) และเหลือ 5 ล้านตันในปี 2563 ส่วนปี 2566 ตั้งเป้า 8 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกเคยสูงสุด 1.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือระดับ 1 แสนล้านต้น ๆ ขณะที่คู่แข่งข้าวไทยเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกข้าวไทยเทียบกับคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม พบว่า มูลค่าข้าวไทยต่ำกว่า 2 ประเทศในทุกตลาด ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ปริมาณส่งออกข้าวอินเดียสูงขึ้นจากโดยเฉลี่ยส่งออกปีละ 10 ล้านตัน เป็นมากกว่า 18 ล้านตันในปี 2565”

ทั้งนี้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาข้าวไทยอยู่ในสภาพแซนด์วิช คือไทยอยู่ตรงกลาง เจอทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งขัน ต้องแข่งกับข้าวเวียดนาม และช่วงหลังแข่งกันข้าวอินเดีย ดังนั้นไทยต้องมานั่งทบทวนการแข่งขันข้าวทั้งระบบในอีก 10 ปีข้างหน้า

10 ปีข้าวไทยทรุดหนัก อินเดีย-เวียดนาม เบียดแย่ง 3 ตลาดใหญ่เพิ่ม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า คาดปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้มากกว่า 8 ล้านตัน(สูงสุดในรอบ 5 ปี) ผลจากประเทศคู่ค้าเร่งนำเข้าจากเกรงผลกระทบจากเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จากอินเดียงดส่งออกข้าวขาว และจากเงินบาทอ่อนค่าทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผลสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยกลับมาดีขึ้น ส่วนปีหน้าจะยังส่งออกได้ดีหรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์เอลนีโญจะรุนแรงแค่ไหน จะกระทบผลผลิตข้าวไทย และผลผลิตข้าวโลกมากน้อยเพียงใด และราคาข้าวในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร

ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การค้าข้าวโลกช่วงจากนี้ไปยังต้องคำนึงถึงการลดโลกร้อนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายและให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจัง ดังเช่นเวลานี้ที่เวียดนามได้เร่งดำเนินการในเรื่องการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาดยุคใหม่มากขึ้น หากไทยยังช้าในเรื่องนี้ รวมถึงไม่เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพื่อการแข่งขัน การส่งออกข้าวไทยคงทำได้ในระดับ 7-8 ล้านตันต่อปีไปเรื่อย ๆ ไม่มากไปกว่านี้