นางนลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า รัฐบาล กำลังจัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมการค้าใหม่ โดยจะเน้นทั้งการเปิดตลาดการค้าใหม่ ทั้ง เอเชียกลาง เอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และแอฟริกา ควบคู่ไปกับการรักษาและขยายตลาดเดิมที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทย ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะประกาศแผนใหญ่ออกมาอย่างเป็นทางการ
“รัฐบาลกำลังเร่งการส่งเสริมการค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ก็เพื่อให้เห็นทิศทางการส่งเสริมการค้าของประเทศไทยในภาพรวมเพราะเดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไปมาก จึงต้องพยายามดูให้ครอบคลุม โดยเฉพาะตลาดใหม่เป็นสิ่งสำคัญ และมีอีกหลายจุดที่ได้ยังไปได้ โดยไม่ใช่แค่การค้า แต่จะรวมไปด้านอื่น ๆ เช่นการลงทุน และความร่วมมือระหว่างกันด้วย” นางนลินี ระบุ
สำหรับแผนการเจาะตลาดการค้าใหม่นั้น รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานไว้แล้วเบื้องต้นหลายภูมิภาคซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เริ่มจาก เอเชียกลาง รวมทั้งยุโรปตะวันออก เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติเกี่ยวกับพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ประเทศเหล่านี้ ก็ต้องการสินค้า และผลิตภัณฑ์จากไทยด้วย เช่น อาหาร อะไหล่รถยนต์ ยางรถยนต์
ส่วนตลาดเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ และศรีลังกา ก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจของไทยที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้อีกมาก และเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา ไทยกับศรีลังกา ได้เริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่นานจากนี้ รวมไปถึงการทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น
เช่นเดียวกับตลาดละตินอเมริกา และประเทศในแคริบเบียน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ และมีโอกาสเข้าไปเปิดตลาดสินค้าของไทยด้วย
ด้านตลาดแอฟริกา ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมามีความต้องการสินค้าเกษตรของไทยมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะไนจีเรีย และโมซัมบิก หากไทยสามารถเจรจาขอตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution center) เพื่อเป็นจุดส่งสินค้าไทยไปและกระจายเข้าไปยังตลาดของประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา จะส่งผลดีต่อการค้าของไทยเป็นอย่างมาก
“ถ้าเราเจาะไปตามตลาดที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมการค้าของไทยได้อีกมาก เช่น ประเทศโมซัมบิก ซึ่งมีชายฝั่งยาวมาก และมีท่าเรือน้ำลึกที่ทำให้การขนส่งมีความสะดวก และยังมีสถานทูตไทยอยู่ที่นั่นด้วย เช่นเดียวกับภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุน จึงเป็นจุดที่เรากำลังพิจารณาไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าสำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย ซึ่งที่ผ่านมาการนำข้าวเข้าจากประเทศไทยสูงถึงปีละ 6 แสนตัน และเป็นโอกาสขยายไปประเทศอื่นได้” ผู้แทนการค้าไทย กล่าว
นางนลินี ยังกล่าวถึงการประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ที่จะมีการประชุมที่ประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เบื้องต้นได้รับแจ้งว่า นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย อาจจะเดินทางมาร่วมประเทศด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้หารือกับอินเดียในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีหลายเรื่องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้แทนการค้าไทย ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย ถึงการฟื้นฟู FTA ระหว่างไทย-อินเดีย กลับมาอีกครั้ง หลังจากชะงักไปหลายปี โดยมีสินค้า 83 รายการที่สามารถจะเจรจากันได้ก่อน
โดยส่วนนี้ถือเป็นตลาดสินค้าส่วนแรก 83 รายการ เช่น ผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 และสามารถที่จะรื้อฟื้นและยกระดับและทำเป็น FTA ที่ครอบคลุมมากขึ้น