แสงสว่างปลายอุโมงค์กับผลงานปราบเนื้อเถื่อน หลังรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯเดินหน้านโยบายประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อนเป็นวาระแห่งชาติ
พลันที่ "ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า" เข้ามารั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ประกาศเปรี้ยงระหว่างมอบนโยบาย ภายใต้สโลแกน”เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมีเป้าหมายความสำคัญในการดูแลพี่น้องเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทย จะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ในสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ พร้อมทั้งสั่งกำชับทุกกรมกองจะต้องมีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ภายใน 100 วันนับจากนี้
“ต้องทำงานเป็น Team Work จากนี้ไปจะทำงานไม่มีในวันหยุด เพราะพี่น้องประชาชนที่รอเราอยู่ ผมและรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่านจะลงพื้นที่ติดตามงานทุกวันไม่เว้นแม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์”รมว.เกษตรฯกล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุม
กล่าวสำหรับการมอบนโยบายของเจ้ากระทรวงพญานาคครั้งนี้ไม่ใช่แค่การสั่งด้วยวาจา แต่มาพร้อมกับข้อมูลอยู่ในมือแล้วส่วนหนึ่ง หลังเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯมาแล้วในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา
ฉะนั้นการเดินหน้าขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลของกระทรวงเกษตรฯครั้งนี้ จึงเดินหน้าอย่างรวดเร็วและเข้มข้น จนเริ่มมีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วในบางหน่วยงาน
หนึ่งในนั้นคือ กรมปศุสัตว์ จากผลงานการจับกุมลักลอบนนำเข้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย(เถื่อน) นำโดยอธิบดี”สมชวน รัตนมังคลานนท์” สนองนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในทันที โดยได้มีบันทึกหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศให้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ออกเอ็กซเรย์โรงชำแหละ ห้องเย็นเนื้อสัตว์ในทันที พร้อมตรวจสอบและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ผิดกฎหมายตามด่านชายแดนอีกด้วย
จึงไม่แปลกที่จะเห็นร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการฯเดินสายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามงานตามนโยบายและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับผิดชอบตามด่านชายแดนอยู่เป็นประจำ
ล่าสุดนำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ด่านพรมแดนถาวร จ.ตาก ซึ่งประกอบด้วย ด่านกักกันสัตว์ตาก ด่านตรวจสอด และด่านตรวจประมงตาก ดำเนินการตรวจสอบควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตร การออกใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงการป้องกันการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกันมาตรการในประเทศก็เร่งทำงานในเชิงรุก โดยติดตาม ตรวจสอบห้องเย็น โรงชำแหละและการจำหน่ายเนื้อผิดกฎหมาย(เถื่อน)ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมตรวจสอบใบอนุญาตจัดตั้งเพื่อนดำเนินกิจการในทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินการ
ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อ”สราวุฒิ ประจวง” หัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะนำเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบห้องเย็นหรือสถานที่เก็บเนื้อสัตว์และซากสัตว์ในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566
ทันทีที่ทราบข่าวร้อยเอกธรรมนัสประกาศเปรี้ยงจากนี้ไปจะต้องไม่มีเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายในประเทศไทย พร้อมขอความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง ตำรวจทหาร นำกำลังเอ็กซเรย์ในทุกอณูขอบพื้นที่ทั่วประเทศเจอทำผิดกฎหมายจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ไม่มีการต่อรองใด ๆ ทุกคดีจะต้องไปจบที่ศาลเท่านั้น
“ผมเอาจริงกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ต้องไม่ตายฟรีท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาลงมา ท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ”ร้อยเอกธรรมนัสให้สัมภาษณ์ทันทีหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์
ผลพวงจากการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ทำให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯประกาศเดินหน้าชนขบวนการลักลอบค้าเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย(เถื่อน)อย่างเต็มสูบ
จะเห็นว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหารทำการจับกุมเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายในหลายพื้นที่หลายจังหวัด
ไม่ว่าการจับกุมลักลอบนำเข้าเนื้อกระบือเถื่อนแช่แข็งนำเข้าจากอินเดียกว่า 75 ตัน ซุกห้องเย็นที่จ.ปทุมธานี ,การตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วย ไก่ สุกร หมู เนื้อวัวนำเข้า น้ำหนักรวม 86,200 กก.ที่จ.ราชบุรี
การจับกุมเนื้อกระบือนำเข้าจากอินเดียและขาไก่จากตุรกีปะปนอยู่กับปลาทูล็อตใหญ่ จำนวน 639 ตันที่จ.สมุทรสาคร
หรือกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ดีเอสไอ(DSI) นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ต้องหาคดีลักลอบนำเข้าเนื้อแช่แข็งในเขตประเวศและเขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียอากรฯ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และนำเข้า-ส่งออกซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตฯ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์พ.ศ.2558 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นส่งผลให้เนื้อสุกรทั้งหน้าฟาร์มและเนื้อชำแหละราคาสูงขึ้นในทันทีตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศ ปรับราคาสุกรขึ้น 4 บาทจากฐานเดิม เมื่อในวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
นับเป็นอีกผลงานที่จับต้องได้ของกรมปศุสัตว์ ภายใต้นโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการประทรวงเกษตรฯในการประกาศสงครามกับขบวนการลักลอบค้าสินค้าเกษตรเถื่อน แม้จะแลกมาด้วยชีวิตเจ้าหน้าที่ก็ตาม