เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “อินเดีย” ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกจะระงับส่งออกข้าวขาว (ระงับมาตั้งแต่ 20 ก.ค. 66)ไปจนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า ประกอบกับในช่วงนี้ผลผลิตข้าวหอมมะลิ ปี 2566/67 ของไทยกำลังจะเก็บเกี่ยว โรงสีคึกคัก ประกาศแย่งซื้อข้าว ขณะตลาดส่งออกมีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ
นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของไทย และในฐานะรองเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวเวลานี้ยังนิ่งๆ ไม่หวือหวา จากตลาดรับรู้อยู่แล้วว่าอินเดียจะจำกัดการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวไปจนถึงเลือกตั้งปีหน้า หรือจนถึงประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2567
อย่างไรก็ดีแม้อินเดียจะยังไม่ประกาศกลับมาส่งออกข้าว แต่ก็ยังมีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีให้ประเทศคู่ค้าที่ร้องขอเข้ามา รวมทั้งยังมีพันธสัญญาจากคำสั่งซื้ออีกกว่าล้านตัน ซึ่งหากรัฐบาลอินเดียปล่อยข้าวตรงนี้ออกมาจะกดดันราคาข้าวในตลาดโลกลดลงในกลุ่มข้าวขาว ส่วนข้าวชนิดอื่นไม่มีผลกระทบ จากการประเมินในปีที่ผ่านมาอินเดียส่งออกข้าวกว่า 22 ล้านตัน ปีนี้คาดจะมีการส่งออกประมาณ 19 ล้านตัน จึงมองว่าข้าวโลกไม่ได้ปั่นป่วน แต่ไม่สามารถปั่นราคาได้แบบหุ้น ดังนั้นราคาข้าวยังอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
“วันนี้คนสั่งซื้อข้าว ไม่ได้ตื่นตกใจว่ามีสงคราม เพราะประเทศคู่ขัดแย้งไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตข้าว แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปากีสถานที่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว 4 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 8% ของโลก ช่วงต้นปีนี้มีนํ้าท่วมใหญ่ อย่างนี้มีผลกระทบแน่นอน แต่ก็ยังมีประเทศอื่นที่ผลิตข้าวส่งออกทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ เพราะข้าวใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ข้าวจะมีการปลูกใหม่ทุก 3 เดือน”
นายวันนิวัต กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ราคาข้าว โรงสีและผู้ส่งออกหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมข้าวหลายชนิดช่วงนี้ราคายังยืนสูง ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารขาวที่ราคาตันละ 20,000 บาท ข้าวสารหอมปทุมธานีตันละ 23,000-24,000 บาท และข้าวสารหอมมะลิตันละ 25,000 บาท ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะข้าวหอมมะลิการส่งออกไม่ได้ดีขึ้น และการที่อินเดียแบนส่งออกข้าวก็ไม่มีผลกระทบกับกลุ่มข้าวหอม เพราะข้าวบาสมาติซึ่งเป็นกลุ่มข้าวหอมของอินเดียก็ยังให้ส่งออกได้
ส่วนเวียดนามก็ส่งออกข้าวหอมได้ตามปกติ กลุ่มประเทศปลายทางก็ซื้อเท่าเดิม จากก่อนหน้านี้กลุ่มข้าวหอมขยับขึ้นจากกลุ่มข้าวขาว ขยับขึ้นสูงสุด 22,000 บาทต่อตันในช่วงที่อินเดียประกาศแบนการส่งออกข้าวขาวใหม่ๆ จากตลาดยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ข้าวหอมมะลิขยับขึ้นไปสูงถึงตันละ 28,000-29,000 บาทจากการเก็งกำไร เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาข้าวขาดแคลนทำให้ซื้อเก็บกักตุนในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง
แต่หลังจาก 3 เดือนผ่านไปความตื่นเต้นหายไป ข้าวหอมที่ซื้อตุนไว้ขายไม่ออก ทำให้ผู้ส่งออกข้าวหลายรายมีข้าวราคาสูงติดอยู่ในมือ และไม่อยากซื้อเก็บเพิ่ม ขณะที่ข้าวหอมมะลิฤดูการผลิตใหม่กำลังจะออก ทำให้การค้าสะดุด ส่วนราคาข้าวขาวที่ไม่ปรับลงมากนัก จากมีอินโดนีเซียมาช่วยซื้อข้าวไทย (8 เดือนปี 66 อินโดฯนำเข้าข้าวไทยแล้ว 8.01 แสนตัน) ทำให้ราคาข้าวขาวไม่ปรับลงมา เรียกว่ารับช่วงต่อพอดี ทำให้ราคาข้าวขาวของไทยยังยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นราคาอาจลดลงมาเหลือตันละ 17,000-18,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาข้าวสารขาว 5% อยู่ที่ 20,000 บาท/ตัน
สอดคล้องกับ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกข้าวหลักให้กับประเทศอิรัก กล่าวว่า จากที่ราคาข้าวของไทยปรับขึ้นสูงมาก ทำให้อิรักยังไม่ซื้อข้าวไทยตั้งแต่ราคาปรับขึ้นที่ระดับมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ยังต้องรอลุ้นปลายปีนี้ หวังว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มจากตลาดอิรัก (ปี 65 อิรักซื้อข้าวไทย 1.6 ล้านตัน) ทั้งนี้ยังกังวลสงครามอิสราเอล-ฮามาส จะส่งผลกระทบหรือไม่ ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวขาวของเวียดนามจะสูงกว่าไทย (กราฟิกประกอบ) สาเหตุมาจาก 1.ปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวได้มาก คาดจะทำสถิติสูงสุด ส่งออกได้มากกว่า 8 ล้านตัน 2.ความต้องการใช้ข้าวภายในของเวียดนามยังมีมาก ปกติจะนำเข้าข้าวราคาถูกจากอินเดีย ทั้งข้าวขาว และปลายข้าว แต่หลังจากอินเดียห้ามส่งออกข้าวทั้งสองชนิด เวียดนามต้องใช้ข้าวในประเทศ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ปกติเวียดนามมีการนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชาไปสีแปรเพื่อส่งออก ปีนี้คาดจะมีการนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชาอย่างน้อย 2-3 ล้านตัน และช่วงหลังเวียดนามหันไปปลูกข้าวพื้นนุ่ม และข้าวหอม ข้าวเหนียว และข้าวญี่ปุ่น ที่ส่งออกได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ข้าวพื้นแข็งมีน้อยลง แต่ลูกค้าที่ซื้อข้าวแข็ง ยังมีอยู่ เช่น ในแถบเอเชีย ทำให้ความต้องการข้าวแข็งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามปรับสูงขึ้นตามไปด้วย