ราคาน้ำตาลปรับขึ้นราคา 4 บาท โดยมีผลไปตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 66 เป็นต้นมา
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ ดังนี้
ด่วน!สอน.ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาท
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับราคาน้ำตาลพบว่า
ร้านขายของชำ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อยู่ที่ 28-30 บาท โดยแบรนด์มิตรผลอยู่ที่ 30 บาทต่อกก. ส่วนน้ำตาลตักแบ่งขายอยู่ที่ 28 บาทต่อกก.
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามร้านขายของชำที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรีดังกล่าว พบว่า น้ำตาลในสต็อกมีน้อย เนื่องจากโรงงานไม่ส่งของให้
นอกจากนี้ จากการสอบถามพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งต้องซื้อน้ำตาลทรายเป็นประจำระบุว่า น้ำตาลทรายหากซื้อในร้าานสะดวกซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 25 บาท แต่หากเป็นร้านขายของชำจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาท โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ราคาดังกล่าวนี้ระยะหนึ่งมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเป็นสต็อกเก่าที่ยังขายไม่หมด
ล่าสุดร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้จำหน่ายน้ำตาลทรายทุกราย ให้จำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีอยู่ในสต๊อกในราคาเดิมจนกว่าสต๊อกเก่าจะหมด และจัดให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และเติมสินค้าบนชั้นวางอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้ามีเพียงพอ ของไม่ขาด
ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า กรมจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนผสม แต่ละชนิดมีผลกระทบแตกต่างกัน เพราะใช้น้ำตาลทรายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน
โดยกรณีเป็นสินค้าควบคุม เช่น นมสด ปลากระป๋อง ถ้าผู้ผลิตจะขอปรับราคา ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยจะดูตามสัดส่วนการใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะบางสินค้าแม้ต้นทุนน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนอื่น ๆ อาจจะลดลงก็ได้
สำหรับกรณีสินค้าอื่น เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน การกำหนดราคาหรือปรับราคา ก็ต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งกรมจะติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้า การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทางสายด่วน โดยการตรวจสอบจะยึดหลักสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการ และผู้บริโภค
กรมฯ เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่คงไม่ต้องการที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค กรณีจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าก็ควรพิจารณาให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด
"ขอเน้นย้ำไปยังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าทุกราย ห้ามฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หากพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันระดับโลก โดยไทยถือเป็นเบอร์ต้นของโลก จึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการแข่งขันกันตลอด
ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำตาลโลกมีการขยับขึ้นสูงมาก หลายประเทศก็ปรับขึ้นตาม ส่วนของไทยในส่วนที่ส่งออกก็มีการปรับราคาน้ำตาลขึ้น ซึ่งเป็นกลไกตลาด
อย่างไรก็ดี จะมีผลกระทบอีกด้านเช่นกัน คือถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกกับราคาน้ำตาลในประเทศไทยต่างกันมาก ก็จะมีเรื่องของการหลุดลอดนำออกไปขายในตลาดฝั่งที่ราคาสูงกว่า ซึ่งเป็นเรื่องของกลไกตลาดเช่นกัน เพราะฉะนั้น เพื่อให้เกิดการสมดุลของตลาด จึงต้องปรับราคาให้สอดคล้อง เนื่องจากหากปล่อยไปน้ำตาลในประเทศอาจจะไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ระดับราคาน้ำตาลในประเทศขยับขึ้นตาม เกิดการแย่งกันซื้อ
ขณะที่ต้นทุนของน้ำตาลทั้งโลกและของไทยมีการปรับตัวขึ้นสูงมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ทั้งเรื่องน้ำมันแพง ปุ๋ยแพง ทำให้ต้นทุนราคาของวัตถุต้นทาง หรือพืชทุกชนิดปรับตัวขึ้น โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น แต่สินค้าหลายอย่างก็แพงเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องมีการควบคุมราคา และภาครัฐ รวมไปถึงเอกชน ก็พยายามหาทางที่จะไม่ให้ขึ้นราคามาโดยตลอด
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า การขึ้นราคาน้ำตาลดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับตลาดโลก และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเห็นสินค้ามาหลายอย่างแล้วที่ทนไม่ไหวต้องปรับขึ้น แต่ต้องดูว่าราคาควรขึ้นเท่าไรถึงจะสมดุล และไม่เกิดผลกระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้าอื่นที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เพราะมันจะส่งผลต่อการแข่งขันของสินค้าอื่นที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งก็ต้องไปดูตลาดในประเทศอื่นด้วยว่าหากสินค้าที่ต้องใช้น้ำตาลมีการปรับราคาในทิศทางเดียวกัน ราคาใกล้เคียงกัน แบบนี้จะไม่กระทบต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้น
อย่างไรก็ตาม หากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลดังกล่าวได้ดูรอบด้านแล้ว ผลกระทบอาจจะเหลืออยู่ด้านเดียว คือของในประเทศอาจจะแพงขึ้นบ้าง โดยขึ้นอยู่กับสัดส่วนที่ใช้น้ำตาล ซึ่งไม่กระทบเหมือนช่วงที่ราคาน้ำตาลโลกพุ่งสูง และการปรับขึ้นของราคาน้ำตาล เป็นลักษณะที่มีความชัดเจน ไม่ใช่การขึ้นแบบแกว่งตัว เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง หรือขึ้นแล้วจะขึ้นต่อเนื่องเรื่อยๆ ทำให้ไม่เห็นความชัดเจนของราคาในอนาคตเหมือนน้ำมัน ดังนั้น อย่างน้อยราคาน้ำตาลยังสามารถคาดการณ์ได้ และวางแผนล่วงหน้าในการบริหารต้นทุนการผลิตและราคาขายได้
"รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูว่าปรับขึ้นแล้วก็ต้องมีเงื่อนไขของเวลา และหลังจากนี้หากจำเป็นต้องปรับขึ้นอีก ก็ควรต้องเป็นกรณีที่มีเหตุการณ์อะไรที่เข้ามากระทบ หรือจะต้องดูให้สอดคล้องกับตลาดโลก เพื่อให้ทุกฝ่ายจะไม่ได้รับผลกระทบที่มากเกินไป"