รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 10 พ.ย. คณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะหารือและได้ข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริงสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะประเด็นต้นทุนการผลิตอ้อยที่สะท้อนราคาน้ำตาล
ทั้งนี้ พบว่าต้นทุนการผลิตอ้อยปีนี้สูงมาก(ฤดูการผลิต 2565/66) เฉลี่ย 12,000-13,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเริ่มผลิตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาปุ๋ยสูงขึ้นเฉลี่ย 44% เพราะเป็นช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็สูงขึ้นเฉลี่ย 39% ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นกัน และยังมีต้นทุนยาปราบศัตรูพืช ค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ผลจากปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อยลง ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องสูบน้ำมากขึ้น ทำให้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย และภัยแล้งยังทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์)ลดลงมาก จากอ้อย 10-11 ต้นต่อไร่ และเคยสูงสุด 12 ตันต่อไร่ เป็น 9-10 ตันต่อไร่
"จากต้นทุนที่ชาวไร่กำลังประสบอยู่เวลานี้ ทำให้คณะทำงานฯ ได้รับข้อมูลรอบด้านจนเกิดความเข้าใจ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะอนุมัติให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาทต่อกก. เป็นระดับ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่ราคาขายปลีกน่าจะยังควบคุม ส่วนจะอยู่ระดับใด คณะทำงานฯจะพิจารณาราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง"
อย่างไรก็ดี ด้วยสาเหตุจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย และน้ำมัน ประกอบกับผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นไประดับ 27-28 บาทต่อกก. ยังจูงใจผู้ส่งออกเลือกส่งออกมากกว่าขายในประเทศ อาจทำให้ตลาดในประเทศตึงตัว ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงออกประกาศขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 4 บาทต่อกก. จาก 19-20 บาทต่อกก. เป็น 23-24 บาทต่อกก.
หลังจากนั้นคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศเป็นสินค้าควบคุมและกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานกลับไป 19-20 บาทต่อกก. ทำให้ชาวไร่ออกมาเคลื่อนไหวเตรียมปิดโรงงานน้ำตาล จึงมีการตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขึ้นมาเพื่อหาข้อยุติดังกล่าว