นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท วงเงินรวม 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่าธ.ก.ส.พร้อมจ่ายภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีกระบวนการต้องประชุม คณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพ.ย.66 นี้ หลังบอร์ดอนุมัติแล้วน่าจะเริ่มได้ทันที
“โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ใช้งบประมาณกึ่งการคลัง มาตรา 28 ภายใต้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งตรวจสอบแล้วยังมีกรอบวงเงินที่สามารถดำเนินการได้ และธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง”
นอกจากนี้ บอร์ด ธ.ก.ส.ได้รับทราบ และดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน โครงการสินเชื่อชะลอการขาย โดยรัฐบาลจะช่วยค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน ทั้งนี้ เกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเองจะได้รับวงเงินเต็มจำนวน สถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเข้าโครงการได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตัน โดยมีเป้าหมายจัดเก็บที่ 3 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน บอร์ดธ.ก.ส.ยังได้รับทราบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงินรวม 690 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อเกษตรกรไม่เกิน 230,000 บาทต่อราย ที่อัตราดอกเบี้ย MRR – 3% (ปัจจุบัน MRR=6.975%) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 วงเงิน 500 ล้านบาท รวมผลผลิตประมาณ 2 แสนตัน
และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 เป้าหมาย วงเงินกู้ 1,000 ล้านบาท รวมผลผลิตประมาณ 1 แสนตันโดย สถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ผู้รับซื้อ จะรับภาระดอกเบี้ย 1% และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ย 3.85%
นอกเหนือจาก มติครม.แล้ว ธ.ก.ส. ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่กลับจากอิสราเอลอื่นๆ ด้วย ได้แก่ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิต ธ.ก.ส.จะดำเนินการยกหนี้ทั้งหมด ทุกบัญชี ทุกจำนวน กรณีเดินทางกลับไทย แต่ยังมีหนี้เดิมคงค้างกับธ.ก.ส. ธนาคารจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ขยายเป็นชำระ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% และปลอดชำระหนี้เงินต้น 1 ปี
“โครงการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รัฐบาลใช้งบประมาณในการสนับสนุนไม่มาก เพราะว่ารัฐบาลเข้ามาช่วยรับภาระดอกเบี้ยเท่านั้น อาทิ โครงการมันสำปะหลัง ข้าวโพด ใช้งบชดเชยดอกเบี้ยแค่หลักร้อยล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกระทบต่องบประมาณมากนัก”