จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบ 2 มาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอ เป็นมาตรการที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 เป็นมิติใหม่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือชาวนา รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตรียมวงเงินเพื่อใช้ขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาล และกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็มีแนวทางในการดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้สำเร็จและเกิดผลดีกับชาวนาผู้ปลูกข้าว ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์
สำหรับ 2 มาตรการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว ผ่านสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 รวมวงเงิน 55,038.96 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการที่ 1 สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมายการเก็บชะลอ 3 ล้านตัน วงเงินงบประมาณ 10,120.71 ล้านบาท รัฐช่วยค่าฝากเก็บข้าว 1,500 บาท/ตัน ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของสถาบันเกษตรกร หรือเกษตรกร ระยะเวลา 1 - 5 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 - 29 ก.พ. 2567
ส่วนมาตรการที่ 2 สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมายในการรวบรวมข้าวเปลือก 1 ล้านตัน วงเงิน 44,437 ล้านบาท รัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ย 3.85% และสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% โดย ธ.ก.ส. จะเป็นแหล่งทุนให้สถาบันเกษตรกรกู้ยืมไปรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคานำตลาด ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการ 15 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 - 31 ธ.ค. 2567 ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวตามลำดับ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (21 พ.ย. 2566) สหกรณ์มีการรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสดที่ตันละ 12,000 บาทแล้ว ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ ในราคาที่รัฐบาลกำหนด ยืนยันว่าราคานี้ไม่มีการขาดทุน เป็นไปตามกลไกการตลาดด้วย เพราะจริง ๆ แล้ว ข้าวสดราคาเท่านี้ นำมาตากแห้งแล้วน้ำหนักลด เมื่อคำนวณกลับเป็นราคาข้าวแห้งแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 -16,000 บาท โดยข้าวเกี่ยวสดที่โรงสีรับซื้อจะนำไปอบเพื่อลดความชื้น ถือเป็นราคาที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ซื้อและชาวนาผู้ปลูกข้าว
อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการนี้ทำให้ศักยภาพของสหกรณ์ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในตลาด และเป็นราคาที่ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย คือทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการ โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางทำให้กลไกตลาดเดินตามปกติไปได้ และช่วยให้ภาคสหกรณ์และชาวนามีรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งชาวนาก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอให้คุ้มค่าใช้จ่ายที่ลงทุนทำนาไป แล้วมีรายได้เหลือบ้าง เพื่อให้มีทุนสำหรับทำนาในฤดูถัดไปได้ ถือเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
อัพเดทสถานการรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ สด วันนี้ (21 พ.ย.66)
สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ร้อยเอ็ด
สหกรณ์การเกษตรพรานกระต่าย จำกัด สาขาถ้ำกระต่ายทอง
สหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา จำกัด
ราคารับซื้อข้าวเปลือกสหกรณ์ฯสาขาแม่ใส วันอังคารที่ 21 พ.ย. 2566