ครม.จัดเต็ม 5.5 หมื่นล้าน คลอด 2 มาตรการสินเชื่อช่วยชาวนา

07 พ.ย. 2566 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 08:11 น.

ครม.ไฟเขียว 2 มาตรการสินเชื่อช่วยชาวนา วงเงินรวม 5.5 หมื่นล้าน ทั้ง สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว พยุงราคาข้าว โดยเฉพาะหอมมะลิไม่ให้ราคาตก เช็ครายละเอียดมาตรการที่นี่

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด แบ่งเป็น 

  1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 
  2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม 

โดยทั้ง 2 มาตรการมีวงเงินรวมกว่า 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายชัย กล่าวว่า เหตุผลของการออกมาตรการมาช่วยเหลือชาวนาเป้นผลมาจากในขณะนี้ราคาข้าวเปลือก ยกเว้นข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดค่อนข้าวจะดี แต่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่กำลังจะทยอยออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งภาคอีสาน และภาคเหนือ ประมาณ 9.5 ล้านตัน 

โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตลาดอยู่ประมาณตันละ 14,800 – 15,000 บาท ซึ่งเป็นข้าวเปลือกแห้งความชื้น 15% แต่สภาพความเป็นจริงเวลาชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วขายเลย จะมีความชื้นอยู่ที่ 25% มีราคาแค่ตันละ 12,000 – 12,300 บาท ซึ่ง ราคาตลาด ณ ขณะนี้ รับซื้ออยู่ที่ตันละ 11,000 บาทเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าราคาที่เป็นธรรมที่ควรจะได้

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำมาตรการมาแทรกแซงราคาด้วยการออก 2 มาตรการมาช่วยดูดซับปริมาณข้าว เพื่อดึงราคาข้าวให้ปรับเพิ่มขึ้นมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

ครม.จัดเต็ม 5.5 หมื่นล้าน คลอด 2 มาตรการสินเชื่อช่วยชาวนา

1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 

มีเป้าหมายดูดซับปริมาณข้าวออกสู่ตลาด 3 ล้านตัน โดยให้สถาบันเกษตรกร และ เกษตรกรที่มียุ้งฉางของตัวเองเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉาง 5 เดือน เพื่อรอการขาย ซึ่งรัฐบาลจะให้สินเชื่อโดยกำหนดปล่อยสินเชื่อในกลุ่มข้าวหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท

พร้อมทั้งช่วยค่าฝากอีก ตันละ 1,500 บาท (สหกรณ์รับตันละ 1,000 บาท+เกษตรกรรับตันละ 500 บาท) มีวงเงินสินเชื่อ 34,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,120.71 ล้านบาท กำหนดเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 

2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม

มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยให้สถาบันเกษตรกรรวบรวม รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา มีวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท และวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 481.25 ล้านบาท โดยจะให้สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% และ รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ส่วนการชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. 4.85% นั้น รัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ย 3.85% ส่วนสถาบันเกษตรกร รับภาระ 1% กำหนดเริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567 

“มาตรการนี้ จะให้สถาบันเกษตรกรเข้าไปซื้อแข่งและแทรกแซงตลาด โดยซื้อในราคานำร่องข้าวเปลือกหอมมะลิ ในความชื้น 25% ราคาตันละ 12,200 บาท เมื่อขายได้แล้ว มีกำไรจะแบ่งชาวนาตันละ 300 บาท ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้รับเงินรวมตันละ 12,500 บาท ซึ่งจะดีกว่าเดิมหากไม่ไปแทรกแซง เพราะจะทำให้ชาวนาได้เงินเพิ่มจากราคาตลาด อีก 1,500 บาท” นายชัย กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการชะลอข้าวออกสู่ตลาดครั้งนี้ เบื้องต้นในฤกาลผลิต 2566/67 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาด 10 ล้านตัน ซึ่งการดูแลช่วยเหลือจะดำเนินการ ผ่านสหกรณ์และเกษตรที่มียุ้งฉาง และเกษตรกรโดยตรง คาดว่าจะสามารถดูดซับสภาพคล้องได้ 4 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลกับราคาข้าวอย่างมีนัยสำคัญไม่ให้ราคาตกลงไป