สัญญาณเตือนแรงงาน ภาคบริการ-ก่อสร้าง ขาดแคลนหนัก 13 ล้านคน

23 พ.ย. 2566 | 23:34 น.

สศช.เปิดข้อมูลสัญญาณเตือนภาคแรงงานไทย หลังพบปัญหาการขาดแคลนหลักในสาขาบริการและการก่อสร้าง โดยมีความต้องการสูงถึง 13 ล้านคน เช็ครายละเอียดสาขาที่ยังมีความต้องการ ได้ที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มทั้งปี 2566 โดยหนึ่งในเรื่องที่ได้มีการรายงานนั่นคือ สถานการณ์ความต้องการแรงงานในภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2565 การผลิตภาคบริการมีมูลค่า 10.20 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.7% ของ GDP และมีการจ้างงานในภาคบริการ 20.80 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการจ้างงานรวม

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่มีความสำคัญและมีสัดส่วนการจ้างงานสูง ได้แก่ 

1.สาขาที่พักแรมและบริการด้านร้านอาหารมีการจ้างงาน 2.91 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13.98% ของการจ้างงานภาคบริการ) แบ่งเป็น

  • การจ้างงานภายใต้ระบบประกันสังคม 1.51 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 51.9%
  • การจ้างงานนอกระบบประกันสังคม 1.40 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 48.1% 

2.สาขาการก่อสร้างมีการจ้างงาน 2.20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 10.60% ของการจ้างงานภาคบริการ แบ่งเป็น

  • การจ้างงานภายใต้ระบบประกันสังคม 1.16 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 52.7%
  • การจ้างงานนอกระบบประกันสังคม 1.04 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 47.3%

 

สัญญาณเตือนแรงงาน ภาคบริการ-ก่อสร้าง ขาดแคลนหนัก 13 ล้านคน

ส่วนข้อมูลจากผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ด้านความต้องการแรงงาน (Demand for Labor) ในสถานประกอบการ จัดเก็บโดยกระทรวงแรงงาน พบว่า ในปี 2565 การผลิตภาคบริการมีความต้องการแรงงาน 12.24 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ของความต้องการแรงงานรวม

เมื่อพิจารณาจำแนกรายสาขา พบว่า สาขาที่พักแรมและบริการร้านอาหาร มีความต้องการแรงงาน 1.69 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13.8% ของความต้องการแรงงานภาคบริการ โดยจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 ลำดับแรก ซึ่งเป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

  1. กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วน 28.91%
  2. ชลบุรี คิดเป็นสัดส่วน 4.9%
  3. ภูเก็ต คิดเป็นสัดส่วน 4.6%
  4. เชียงใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 4%
  5. สุราษฎร์ธานี คิดเป็นสัดส่วน 4%

 

สัญญาณเตือนแรงงาน ภาคบริการ-ก่อสร้าง ขาดแคลนหนัก 13 ล้านคน

ขณะที่ สาขาการก่อสร้าง มีความต้องการแรงงาน 1.32 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 10.76% ของความต้องการแรงงานภาคบริการ โดยจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย

  1. กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วน 29.76%
  2. ชลบุรี คิดเป็นสัดส่วน 4.44%
  3. เชียงใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 2.38%
  4. นครราชสีมา คิดเป็นสัดส่วน 1.79%
  5. สงขลา คิดเป็นสัดส่วน 1.73%

ทั้งนี้จากตัวเลขดังกล่าว จึงยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมที่แม้ว่าภาคบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดแรงงานยังไม่สามารถผลิตแรงงานได้ทันกับความต้องการ ส่งผลให้ยังคงมีความต้องการแรงงานจำนวนมากอยู่ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลแก้ไข เพื่อให้มีแรงงานที่เพียงพอและสามารถรองรับความต้องการตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งในภาคการก่อสร้างด้วย