“หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าจำนวนมหาศาล โดยสำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น ถูกส่งนำเข้ามากระจายขายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทยอยเลิกอาชีพ จากแข่งขันกับหมูเถื่อนไม่ไหว ขายได้ราคาไม่คุ้มทุน และรัฐสูญรายได้จากการหลบเลี่ยงภาษีของผู้นำเข้าเป็นจำนวนมาก ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ให้เร่งปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซาก และต้องสาวให้ถึงตัวการใหญ่
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลภาคปศุสัตว์ของประเทศมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร ที่มาที่ไปก่อนที่ “หมูเถื่อน” จะเป็นคดีพิเศษ และการเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนับจากนี้จะเป็นอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แบบเจาะลึก ตรงไปตรงมา
ปฐมเหตุปราบลักลอบ
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการป้องกันและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อนในทุกช่องทาง ตั้งแต่ด่านท่าเรือ มีการตรวจสอบเอกสารอย่างเข้มข้นขึ้น มีการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบไม่ให้มีหมูปลอมปนเข้ามา และยังมีการสุ่มตรวจห้องเย็น โดยเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ พญาไทที่สังกัดส่วนกลางของกรมฯคอยหาข่าว และลงไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของด่านชายแดนก็ยังมีการลับลอบนำเข้าแบบกองทัพมด จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารที่อยู่ตามแนวชายแดน บูรณาการร่วมกันในการจับกุมทั้งด้านชายแดนลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนทางอากาศมีตรวจสอบโดยสารวัตรบีเกิ้ล เป็นชุดปฏิบัติการทีมสุนัขดมกลิ่น ปฏิบัติงานตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ ประจำด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
“ทำไมถึงต้องตรวจสอบ แม้ว่าจะมีปริมาณไม่เยอะแต่หากมีเชื้อโรคเข้ามาเพียงชิ้นเดียว หลุดเข้าไปติดในฟาร์มก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ทำให้กรมมีผลงานที่โดดเด่นตรวจจับกุมได้จำนวนมาก โดยเฉพาะในปี 2565 มีผลงานจับกุมชัดเจนมากขึ้นดังนั้นให้ดูผลลัพธ์ เพื่อให้สามารถสาวไปถึงผู้กระทำผิดที่เป็นตัวการใหญ่ผมในฐานะที่เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาร่วมปี รู้ดีถึงความเหนื่อยยากของการทำงานที่เจ้าหน้าที่กรมฯทำงานปิดทองหลังพระ ทั้งด้วยการตรวจสอบห้องเย็นร้านหมูกระทะ และอื่นๆ จนกระทั่งสินค้าลักลอบนำมาฝากที่ห้องเย็นไม่ได้ ทำให้ตกค้างอยู่ที่เรือ”
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)ตรวจสอบห้องเย็น เป็นคดีใหญ่หลายคดี ระหว่างนั้นได้มีการหารือกันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.หากทำอยู่อย่างนี้ไม่จบ ก็เหมือนการตั้งรับ ลำพังกรมปศุสัตว์หน่วยงานเดียวต้องยอมรับว่าศักยภาพไม่เต็มที่เห็นเนื่องจากกฎหมายตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 มีโทษเบา นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่หัวหน้าด่านกักกันเพชรบูรณ์ไป (ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบห้องเย็น)
“จนถึงขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาช่วยกัน ทำให้เห็นผลความคืบหน้าชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและกรมปศุสัตว์ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ที่กำกับดูแล ซึ่งทั้ง 3 ท่าน ได้ลงมาสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การปราบปรามหมูเถื่อนเข้มข้นและประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมปศุสัตว์ ก็ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งดีเอสไอ กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสอบสวนงาน ปปง. ทหาร ฝ่ายปกครอง และกอ.รมน. ที่สนับสนุนช่วยเหลือกรมปศุสัตว์ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์
ยันกรมเป็นโจทย์ไม่ใช่จำเลย
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า หน้าที่ของกรมปศุสัตว์ คือการดูแลปกป้องเกษตรกร เมื่อมีการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์เข้ามา เจ้าหน้าที่ของกรมฯต้องสกัดกั้น เพราะพอเป็นเนื้อหมู เป็นเนื้อสัตว์ ก็มองมาที่ปศุสัตว์ แต่แน่นอนในการทำงานในทุกองค์กร อาจมีเจ้าหน้าที่ทำผิด เป็นบุคคลที่ไม่ดี ก็ต้องตรวจสอบ หากพบมีพยานหลักฐานก็ต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด ไม่มีการปกป้อง ไม่ใช่มาลงโทษหน่วยงานหรือองค์กร เราเป็นโจทย์ไม่ใช่จำเลย
“ผมได้รับการโปรดเกล้าฯ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565ซึ่งได้ประกาศนโยบายเลยว่าสินค้าเกษตรลักลอบนำเข้าไม่ว่าจะเป็นหมู เป็นเนื้อ หรือเป็นอะไรก็ตาม ทางกรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด”
ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ 1.เนื้อสัตว์เหล่านี้ไม่รู้เลยว่ามาจากแหล่งใด ตรงนี้มีความเสี่ยงจากเชื้อโรคระบาดสัตว์ ซึ่งอาจจะติดมาจากเนื้อสัตว์เหล่านี้ 2.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะสินค้าลักลอบมีความเสี่ยงทำให้คนมีปัญหาด้านสุขภาพ หรืออาจจะมีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เหตุผลที่3.การลักลอบนำเข้า ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ต้องลงทุนเลี้ยงก่อนเติบโตและขายได้ แต่การลับลอบเข้ามา ทำลายกลไกตลาดเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เลี้ยง
โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบมากจากเหตุการณ์ครั้งนี้จากก่อนหน้านี้เกิดการระบาดของโรคASF ทำให้เกษตรกรเกิดความไม่มั่นใจในการลงเลี้ยงหมูใหม่ และยังมาเจอหมูกล่องลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย ยิ่งทำให้เกษตรกรเกิดความท้อถอย และอาจไม่อยากเลี้ยงอีก เป็นเหตุผลที่ทางกรมฯ ต้องดำเนินการอย่างจริงและต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซํ้าซากเช่นนี้ในอนาคต
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,943 วันที่ 26-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566