ระนองตั้งหน่วย ฉก. แก้ปัญหายางพาราเถื่อน ทะลักชายแดน

28 พ.ย. 2566 | 06:21 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 06:52 น.

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 จับกุมยางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านปีละกว่า 100 ตัน ขณะที่จังหวัดระนอง ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดน หลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งแก้ปัญหา

จากกรณีที่นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ายางพาราตามแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน หากดำเนินการสำเร็จจะทำให้ราคายางพาราในประเทศปรับขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาทนั้น

ในส่วนของจังหวัดระนอง ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาทั้งทางบกและทางทะเล รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 หรือ ฉก. ร.25 กองกำลังเทพสตรี  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำยางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรูปแบบการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน ได้รับรายงานว่า ใช้เรือหางยาวบรรทุกข้ามแม่น้ำกระบุรี และใช้รถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์บรรทุกต่อจากเรือขึ้นฝั่งเข้ามาขายให้กับนายทุนในพื้นที่อำเภอกระบุรี จ.ระนอง โดยในปี 2565 ( ม.ค.-ธ.ค.65) สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 54 คดี ผู้ต้องหา 38 คน ของกลางยางพาราแผ่น 124,943 กิโลกรัม ยางพาราก้อนถ้วย 6,350 กิโลกรัม รถยนต์กระบะ 23 คัน รถจักรยานยนต์ 14 คัน เรือหางยาว 5 ลำ เรือไฟเบอร์ 1 ลำ  

ระนองตั้งหน่วย ฉก. แก้ปัญหายางพาราเถื่อน ทะลักชายแดน

สำหรับปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 27 กันยายน 2566 จับกุมผู้กระทำความผิดได้ 52 คดี  ผู้ต้องหา 77 คน ยางพาราแผ่น 108,400 กิโลกรัม ยางพาราก้อนถ้วย 1,000 กิโลกรัม รถยนต์กระบะ 29 คัน รถจักรยานยนต์ 28 คัน เรือหางยาว 15 ลำ นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ผลปาล์มน้ำมัน 12,480 กิโลกรัม เมล็ดกาแฟ 2,300 กิโลกรัม หวาย 9,510 เส้น เป็นต้น

อีกทั้งหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโยบายในการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย  โดยให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของจังหวัดระนอง  ขณะที่นายราชัน  มีน้อย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนจังหวัดระนอง

โดยมีเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กอ.รมน.จังหวัดระนอง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 ศุลกากรระนอง พาณิชย์จังหวัดระนอง ตำรวจภูธรจังหวัดระนอง  เป็นต้น

ลงพื้นที่ตรวจติดตาม จับกุม และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการร้านรับซื้อยางพารา และตรวจสอบการซื้อขายยางพารา และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้านการค้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ใขปัญหากรสักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดระนองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย