ดันระนอง เป็น Gate Way เชื่อมโยงขนส่ง-ท่องเที่ยว สู่เมียนมา

30 ต.ค. 2566 | 07:49 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 08:07 น.

ภาครัฐ-เอกชน เดินหน้าผลักดันระนองเป็นประตูสู่ทางการค้า ขนส่ง ท่องเที่ยวในพื้นที่ทางตอนใต้เชื่อมโยงเมียนมา และกลุ่มBIMSTEC 

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวระนอง ผลักดันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำคัญทางการค้า ขนส่ง ท่องเที่ยวในพื้นที่ทางตอนใต้เชื่อมโยงเมียนมา และกลุ่ม BIMSTEC  (ได้แก่ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย เมียนมา เนปาล ภูฏาน และไทย) 

หลังมีความคืบหน้าโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งการขยายท่าเรือ ถนนสี่เลน การพัฒนาสนามบิน และล่าสุดมีความคืบหน้าในการผุดเส้นทางรถไฟเชื่อมเส้นทางการขนส่งสินค้า 2 ฝั่งทะเลจากชุมพรฝั่งอ่าวไทยมายังระนองฝั่งอันดามัน 

นายสนชัย   อุ่ยเต็กเค่ง  นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง    เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระนอง จะคงยังให้ความสำคัญกับ 2 ยุทธศาสตร์สำคัญคือการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทางสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง,สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง  และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดชุมพร กำลังเร่งผลักดันให้จังหวัดระนองเป็นประตู (Gate Way ) ในการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับประเทศเมียนมา โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดระนองมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เนื่องจากมีความพร้อมด้านท่าเรือ

นายสนชัย อุ่ยเต็กเค่ง นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง

"การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยการเชื่อมต่อการท่องเที่ยวกับเมียนมา  โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลอันดามัน และจังหวัดระนองมีท่าเรือและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นประตู  (Gate  Way)  ในการท่องเที่ยวบริเวณหมู่เกาะทางตอนใต้ของพม่า  โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะมะริด  ที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 800  เกาะ  มีความสวยงามเช่นเดียวกับหมู่เกาะแถบอันดามันของไทย  

โดยขณะนี้รัฐบาลเมียนมาได้มีแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่นี้อยู่แล้ว ดังนั้นทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง จะเน้นการเป็นฐานในการเชื่อมต่อเข้าไปเที่ยวหมู่เกาะมะริด  โดยการเป็นตัวกลางจัดหานักท่องเที่ยวเชื่อมต่อไปยังเมียนมา  และนำมาเป็นส่วนผสมกับแพคเกจทัวร์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต่อวีซ่า ได้พักและท่องเที่ยวในจังหวัดระนอง"

 นายสนชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ประเด็นการหาช่องทางดึงกรุ๊ปทัวร์ชาวเมียนมาเข้ามาท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนก็เป็นอีกแผนการที่ทางผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายองค์กรกำลังหาทางขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอยู่ ระนองเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามมากมายแต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางเข้าถึงพื้นที่  โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเมียนมาซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

แต่ติดปัญหาในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันได้รับอนุญาตจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยให้เข้ามาได้เพียงครั้งละ  3  วันเท่านั้น  และได้รับอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวภายในรัศมี  15  ตารางกิโลเมตร  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการด้านการท่องเที่ยว”

ที่ผ่านมากลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยวพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอดเพราะพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวเมียนมาที่มีฐานะระดับกลางจำนวนมากต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน แต่ติดปัญหาข้อจำกัดด้านความมั่นคงที่ยังไม่เปิดกว้างให้ชาวพม่าสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยเช่นนักท่องเที่ยวทั่วไป

ดันระนอง เป็นGate Way  เชื่อมโยงขนส่ง-ท่องเที่ยว เมียนมา

ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่จังหวัดระนองต้องการมากที่สุดคือต้องการให้ช่วยผลักดันเรื่องการอนุญาตให้ขยายพื้นที่ในการท่องเที่ยวออกไปให้มากขึ้น ซึ่งหากทำได้จะทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน  และจากข้อเสนอดังกล่าวล่าสุดทาง สทท.ได้รับข้อเสนอและพร้อมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
     สำหรับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวโดยภาพรวมในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนว่ายอมรับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย  และจากวิกฤติปัญหาโดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกทำให้นักท่องเที่ยวมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น  พฤติกรรมการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในระยะหลังจะหันมาท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากขึ้น

ปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนคือ โลจิกสติกส์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ   ซึ่งพบว่าการคมนาคมยังขาดการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงถึงกันได้จะทำให้การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากจังหวัดหลักมายังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดรอง”