นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า จากการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามหมูเถื่อนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังเข้มข้นในขณะนี้ทำให้ทราบว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีการลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามาแล้วกว่า 2,385 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยเข้ามาปะปนอยู่ในห้องเย็นและท้องตลาดของไทยเป็นจำนวนมากหลายหมื่นตันในสภาพหมูแช่แข็ง
ทั้งนี้ไม่ใช่มีเพียง 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่จับกุมได้ ณ แหลมฉบังเท่านั้น แต่เชื่อว่าหมูเหล่านี้ได้ถูกกระจายขายให้ผู้บริโภคไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และปัจจุบันก็ยังไม่หมดไป ยังคงมีวางจำหน่ายแทรกอยู่ตามท้องตลาดทั่วไทย หรือรอเวลาเล็ดลอดออกมาขาย
อย่างไรก็ดีจากที่หมูเถื่อนส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างเสรี เพื่อหวังผลด้านการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือสารตกค้างในเนื้อหมูเถื่อนเหล่านั้น ขณะที่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง จากมีความห่วงใยในผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะสารเร่งเนื้อแดงมีผลกระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนัก เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน
ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นเกษตรกร และเป็นผู้บริโภคด้วย จึงอยากขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ปูพรมตรวจสารเร่งเนื้อแดงในทุกจุดจำหน่ายเนื้อหมูทั่วประเทศ ทั้งแผงหมูสดในตลาด ร้านขายหมูติดแอร์ หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้บริโภคในการบริโภคเนื้อหมู รวมถึงเพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนไทยลดโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
“หมูเถื่อนแช่แข็งสามารถเก็บในห้องเย็นได้นาน 1 ปี ซึ่งจากใบขนสินค้าเข้าราชอาณาจักรไทยมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่จับได้ นับว่ายังมีหมูเถื่อนเหลือรอดจากการถูกจับกุมอีกมหาศาล หากมีการขนย้ายไปยังแหล่งจำหน่ายได้แล้ว เช่น ตลาดหรือร้านอาหาร ก็ยากมากที่ประชาชนจะสังเกตเห็นหรือแยกได้ว่า ชิ้นใดเป็นหมูเถื่อน ชิ้นใดเป็นหมูไทย และหมูเถื่อนที่เก็บมานานกว่า 1 ปี ยังมีโอกาสขึ้นราและหมดอายุด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบจาก อย.”นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าว
อนึ่ง สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ขยายหลอดลม สลายไขมัน เพิ่มระดับกลูโคสในเส้นเลือด เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ยาบรรเทาโรคหอบหืดของมนุษย์ แต่การที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์และเกิดตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภครับประทานเข้าไป จึงมีผลต่อการทำงานของระบบประสาท ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์