จากกรณีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว(ล)25288 แจ้งถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงการจัดทำมาตรการ/โครงการเพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ได้ขอให้การช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเกษตรต่อจากนี้ไป ขอให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร หนึ่งในนั้นโครงการ “จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท” ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2556/67 ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท มีวงเงินงบประมาณจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท นั้น
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมชาวนาฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถที่จะอุดหนุนเกษตรกรชาวนาไปได้ตลอด ชาวนาต้องการที่จะยืนได้ด้วยตัวเอง จึงได้เสนอเรื่องพัฒนาปัจจัยการผลิตมาต่อเนื่องโดยตลอด ทั้ง "แหล่งน้ำที่ทั่วถึง" และ "พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง" อย่างน้อยต้องให้ผลผลิตข้าวแห้งไม่น้อยกว่า 1,000 กก./ไร่ (ที่ความชื้นไม่เกิน 15%) หรือข้าวเกี่ยวสด ต้องไม่ต่ำกว่า1,300 กก./ไร่ อายุการเพาะปลูก 95-100 วัน
และอยากถามไปยังหน่วยงานราชการที่บอกว่าข้าวของไทยพันธุ์ปัจจุบันที่ใช้กันอยู่นั้นให้ผลผลิตสูง อยากถามว่าอยู่ที่ใดเกษตรกรจะได้นำมาปลูกบ้าง เพราะหากเป็นอย่างนั้นจริง ชาวนาคงไม่ต้องดิ้นรนไปนำพันธุ์เพื่อนบ้านมาปลูก ไม่อยากให้หน่วยงานราชการเอาตัวเลขในแปลงทดลองมาพูดว่าได้ผลผลิตสูง เพราะไม่ตรงปก ในความเป็นจริงที่ชาวนานำมาปลูกไม่ได้ผลผลิตอย่างในแปลงทดลอง
ส่วนความคิดที่จะสร้างไซโลเก็บข้าว 3,000 ล้านตัน ควรเลิกคิด แล้วกลับมาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวจะดีกว่า รวมทั้งเงินช่วยเหลือต่างๆที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรง ควรจะตัดทิ้งออกไปบ้าง แล้วเอาทำประโยชน์แก่ชาวนา เรื่องการพัฒนาเรื่องพื้นฐานอย่างน้ำ และ พันธุ์ข้าว ส่วนไร่ละ 1,000 บาท นี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรง ชาวนา 4.7 ล้านครัวเรือนได้รับประโยชน์ และชะลอการขายที่เป็นยุ้งฉางของชาวนาเองก็เป็นประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรงเช่นกัน สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวนา แต่การช่วยอย่าอื่นมองไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชาวนาโดยตรงอย่างไร
ด้านนนายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน กล่าวว่า ถ้าไม่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท รัฐบาลก็ควรจะเตรียมมาตรการอื่นๆ ออกมา เพื่อปกป้องผลผลิต ปัจจัยการผลิต ต้นทุน และราคาเกษตรกรที่จะขายได้ จะต้องหามาทดแทนในโครงการนี้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 20 ไร่ ก็ได้
ขณะที่นายวิชัย ชิตยะวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย กล่าวว่า จะมาตัดโครงการนี้ไม่ได้ เป็นประเพณีไปแล้ว ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องจ่าย จู่จะมายกเลิกได้อย่างไร เพราะเนื่องจากในแต่ละปีชาวนามีความเสี่ยง ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และปัจจัยการผลิต ปุ๋ย สารเคมีเกษตร ผันผวนทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทุกปี ก็อยากจะเสนอให้รัฐบาลคงมาตรการนี้ไว้ ไม่อยากให้ยกเลิก ดังนั้นขอฝากด้วย
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นายกสมาคมสถาบันชาวนาไทย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจะไม่มีโครงการนี้ จะต้องบริหารสินค้าเกษตรให้ดี อย่างน้อยข้าวเปลือกหอมมะลิสด ชาวนาจะต้องขายไม่ต่ำกว่า ราคา 15,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ต้องขายไม่ต่ำกว่าตัน 10,000 บาท ขึ้นไป ส่วนมันสำปะหลังจะต้องขาย 3-5 บาท/กิโลกรัม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องไม่ต่ำกว่า ราคา 8 บาท/กิโลกรัม เพราะถ้าราคาดี รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยอะไรเลย จะต้องให้ราคาไม่ขาดทุน สามารถทำอาชีพยืนอยู่ด้วยตัวเอง แทบจะไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรเลย เพราะเศรษฐกิจจะฟื้นด้วยธรรมชาติเอง รัฐบาลก็ต้องดูแลดีๆ อย่าให้พ่อค้า นายทุน ที่มีอำนาจมาเอาเปรียบเกษตรกร นี่คือ สิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาล
นายจารึก กมลอินทร์ ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนแห่งประเทศไทย สังกัดกรมการข้าว กล่าวว่า ในที่ผ่านมาที่มีการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ที่ ธ.ก.ส.จ่ายให้กับชาวนาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น ในรัฐบาลก็ไม่อยากที่จะสั่งจ่าย เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐบาลชุดเก่าที่จ่ายมา 9 ปีแล้ว ถึงได้มีกระแสข่าวว่าไม่ใช่นโยบาย แต่กระแสต้านไม่ไหว ก็ต้องจ่ายในที่สุด ขณะที่ชาวนาเองก็เคยได้จนชินแล้ว แล้วถ้าจะไม่มีโครงการในปีหน้า ก็ยาก ในความคิดเห็นส่วนตนก็คาดว่าน่าจะมีการปรับลดโดยพิจารณาที่รัฐบาลสามารถจ่ายได้ เช่น ลดลงเหลือไร่ละ 500 บาท จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ และในส่วนงบประมาณที่เหลือก็น่าที่จะมาช่วยลดต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าปุ๋ย และสารเคมี เป็นต้น เพราะไม่อยากให้เกษตรกรเสพติดนโยบายประชานิยมมากเกินไป
อนึ่ง โครงการเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ในรัฐบาลชุดที่แล้วเคยปรับเปลี่ยนนโยบายมาแล้ว (คลิกอ่าน) แต่ผลสุดท้ายชาวนาไม่ยอม จึงดึงเงินกลับจากกรมการข้าว มาจ่ายให้ชาวนา แบบเดิม
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สำนักงบประมาณได้ประสานเพื่อประชุมหารือเป็นการภายในกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว (กรมการข้าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมหารือด้วยเนื่องจากติดภารกิจ) เพื่อหารือการเสนอขอตั้งงบประมาณโครงกรสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา” โดยจะขอให้กรมการข้าวเป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2566 วงเงินโดยประมาณ 54,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณมีข้อสังเกตในการขอตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนี้
1.การขอตั้งงบประมาณของโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส.เป็นผู้ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยรัฐบาลชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการ (ธ.ก.ส. จ่ายเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ของเกษตรกรเป็นรายบุคคล แล้วจึงตั้งงบคืนในปีถัดไป) วงเงินงบประมาณ ประมาณ 54,000 ล้านบา เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 3 รายการ ได้แก่
1.ชดเชยงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร ประมาณ 53,000 ล้านบาท
2.ชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ประมาณ 1,077 ล้านบาท
3. ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. ประมาณ 23 ล้านบาท
ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นว่า งบประมาณสำหรับชดเชยตันทุนเงินของ ธ.ก.ส. และ ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดิน
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดย ธ.ก.ส. ไม่มีการติดตามประเมินผล มีเพียงรายงานการโอนงบประมาณให้เกษตรกร ตังนั้น สำนักงบประมาณจึงเห็นว่า หากตั้งงบประมาณที่ กรมการข้าว จะได้มีการติดตามประเมินผลว่าเกษตรกรที่ใด้รับเงินอุดหนุน นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่
สำนักงบประมาณ ต้องการผลักดันงบประมาณก้อนนี้มาเป็นรายจ่ายลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนงบรายจ่ายลงทุนต่องบรายจ่ายประจำในภาพรวมระดับประเทศ โดยจากการประสานผู้แทนสำนักงบประมาณได้ข้อมูลว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณครบตาม จำนวนเดิม คือ 53,000 ล้านบาท แต่สามารถจัดทำเป็นโครงการใหม่ที่ใช้งบประมาณลดลงก็ใด้ แต่ต้องเป็นการจ่ายในลักษณะรายจ่ายลงทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จึงเป็นที่มา "มหากาพย์การไล่บี้ทวงเงินของชาวนา ที่รัฐบาลจะจ่ายเงินผ่านศูนย์ข้าวชุมชน" เพื่อลดงบประมาณคลังหลวง
ข่าวเกี่ยวข้อง