ไทม์ไลน์ บ.สมายล์ ท็อป เค โดน กรมปศุสัตว์ อายัด ทำลายซาก "มันสุกรแช่แข็ง"

07 ธ.ค. 2566 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 10:04 น.

เปิดไทม์ไลน์ - คำชี้แจง บ.สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส ก่อนดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ยึดอายัด-ทำลายซาก "มันสุกรแช่แข็ง"

จากกรณี นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ฟ้องศาลปกครองกรมปศุสัตว์ไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดนายบริบูรณ์ให้สัมภาษณ์เปิดใจ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์หน้าเตรียมฟ้องกรมปศุสัตว์ต่อศาลปกครอง กรณีกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ไม่อนุมัติให้นำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรของบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำนวน 2 ตู้ 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ลำดับเหตุการณ์ตู้ส่งสินค้าจำนวน 2 ตู้ของบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งแต่เดินทางมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จนกระทั่งกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติให้นำซากสัตว์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ดังต่อไปนี้ 

วันที่ 17 กันยายน 2565 

สินค้าของบริษัท สมายด์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด จำนวน 2 ตู้ มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง (ท่า C1,C2) จังหวัดชลบุรี ด้วยเรือ ONE HANGZHOU BAY V.046W ตามใบตราส่งสินค้า (Bill of landing) เลขที่ HLCUSYD 220814258 (หมายเลขตู้ GESU 9532360) และ เลขที่ HLCUSYD 220814331 (หมายเลขตู้ HLBU 9113445) โดยไม่มีผู้มาติดต่อชำระอากรหรือวางหลักประกันค่าอากรกับกรมศุลกากรภายในระยะเวลาที่กรมศุลกากรกำหนด (30 วัน) จึงเป็นของตกค้างบัญชีเรือ List F เลขที่ 58/2565 และเลขที่ 59/2565  

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 

กรมศุลกากรตรวจสอบพบว่า สินค้าของบริษัท สมายด์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เป็นของต้องกำกัดในการนำเข้า โดยไม่ปรากฏว่ามีใบอนุญาต หนังสืออนุญาต หรือคำสั่งอนุญาตในการนำเข้าโดยถูกต้องจึงเป็นอันต้องยึดไว้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 

วันที่ 26 เมษายน 2566 

บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร ณ ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566

บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ยื่นหนังสือชี้แจงเมืองท่าและประเทศต้นกำเนิดสินค้าว่ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่ประเทศออสเตรเลีย ตามที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรีท้วงติง (เป็นเพียงการถ่ายลำที่ออสเตรเลีย) 

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 

บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ส่งหนังสือเลขที่ สทค 003/2566 ถึง กองสารสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ชี้แจงชนิดของสินค้าที่ขออนุญาตนำเข้าราชอาณาจักร โดยระบุชนิดของสินค้าเป็น “มันสุกรแช่งแข็ง” ไม่ใช่ “เนื้อสุกรดิบแช่งแข็ง”

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 

ตู้ GESU 9532360 (ใบส่งสินค้า เลขที่ HLCUSYD 220814258 , List F ที่ 58/2565) และ ตู้ HLBU 9113445 (ใบส่งสินค้า เลขที่ HLCUSYD 220814331, List F ที่ 59/2565) ตกเป็นของกลางในคดีและอยู่ในการดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษเลขที่ 59/2566

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 

กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ส่งหนังสือเลขที่ กษ 0621/3757 ถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด  "ขอเอกสารเพิ่มเติม" เพื่อประกอบการพิจารณาการขออนุญาตนำสัตว์ หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร โดยระบุว่า

“กองสารวัตรและกักกันยินดีที่จะพิจารณาการขออนุญาตนำสัตว์ หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรของท่าน โดยให้ท่านส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Cerificate) ฉบับต้นฉบับ และใบส่งสินค้า (Bill of landing)”

วันที่ 10 สิงหาคม 2566

กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ส่งหนังสือเลขที่ กษ 0621/4550 ถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เรื่อง ผลการพิจารณาการขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร โดยระบุว่า "ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติให้นำซากสัตว์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรได้" 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 

บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธไม่พิจารณาอนุมัตินำเข้าคำขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร โดยระบุว่า

"เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ยื่นขออนุญาต ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539"

"บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในฐานะผู้ยื่นคำขออนุญาตซึ่งเป็นคู่กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตดังกล่าว และขออุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งปฏิเสธของผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน"