เปิดที่มาเหตุผลในการประกาศใช้ร่าง “พระราชบัญญัติกองทุนทุเรียนไทย พ.ศ....” โดยที่ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากและส่งออกทุเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ประกอบกับต้องเผชิญการแข่งขันกับต่างประเทศ การที่จะรักษาอาชีพการทำสวนทุเรียนของเกษตรกรไทยให้ยั่งยืนจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการนี้
นายชลธี นุ่มหนู อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน และปัจจุบัน ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และผู้ก่อตั้งเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า “พระราชบัญญัติกองทุนทุเรียนไทย พ.ศ....” จะมีทางตัวแทนเกษตรกร สมาคม สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย จะเป็นคนยื่นให้กับนายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกมธ.เกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้นประธานฯก็จะนำไปเสนอให้พรรคก้าวไกลนำร่างฯ นี้เข้ารัฐสภา เข้าสู่กระบวนพิจารณากฎหมายต่อไป
“แนวความคิดในเรื่องกองทุนทุเรียนไทยมีมานานแล้ว และปัจจุบันการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ เป็นพืชส่งออกดันดับ 1 แซงข้าวและยางพาราแล้ว แต่เราไม่มีเงินกองทุนที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกรเลย จึงเกิดแนวความคิด ที่จะตั้งเงินกองทุน ขึ้นมาเพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น จะทำให้ปัญหาต่างๆ จะตามมามากมาย จะเป็นลักษณะเดียวกับกับที่ใช้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีเงินกองทุนบริหารฯ ค่าใช้จ่ายก็จ่ายตามหมวด "
นายชลธี กล่าวอีกว่า กองทุนจะเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (เซสส์) ในอัตรา 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งการคำนวณตัวเลขส่งออกทุเรียนปีละ 1,500,000 ตัน หรือ1,500 ล้านกิโลกรัม ถ้าเก็บเงินจากการส่งออกแค่กิโลกรัมละ 25 สตางค์จะมีเงินสมทบเข้ากองทุนทุเรียนไทยปีละประมาณ 375 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเก็บเงินเข้ากองทุนแล้ว จะมีคณะกรรมการเข้ามาจัดสรรเงินใช้จ่ายแบ่ง 4 หมวด ดังนี้
หมวดที่ (1) จำนวนไม่เกิน 25% เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับทุเรียน ในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุเรียนไทยซึ่งจะมอบให้หน่วยงานวิจัยหรือสถาบันวิจัยหรือองค์กรใดๆที่ทำงานวิจัย โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
หมวดที่ (2)จำนวนไม่เกิน 25% เป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและรักษาคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมการส่งออกและการแปรรูปในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุเรียนไทยซึ่งจะมอบให้หน่วยงานหรือหรือองค์กรใดๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด (3)จำนวนไม่เกิน 25% เป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือ ทดแทนให้เกษตรกรและผู้ส่งออกที่ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือภัยพิบัติจากเหตุการณ์ซึ่งไม่อาจควบคุมได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
หมวดที่ (4) จำนวนไม่เกิน 25% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานกองทุนทุเรียนไทย หากจำนวนเงินที่ตั้งไว้นี้ไม่พอจ่ายในงานต่างๆ ดังกล่าวให้รัฐบาลตั้งรายจ่ายเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปีตามความจำเป็น และ หมวด(5)เงินที่เหลือจ่ายจาก (1) (2) (3)และ(4) ให้เก็บสะสมไว้ในกองทุนทุเรียนไทย
นายชลธี กล่าว่า ใน พระราชบัญญัติกองทุนทุเรียนไทย พ.ศ.... มีทั้งหมด 25 มาตรา จะมีระบุหาก ผู้ใดกระทำด้วยการใดๆเพื่อหลีกเลี่ยงไม่เสียเงินสมทบกองทุนตามมาตรา5หรือเพื่อเสียเงินน้อยกว่าที่ควรจะเสีย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสิบเท่าของเงินที่ต้องจ่ายแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ามีผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่กรรมการ เจ้าพนักงานกองทุน หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการในการปฏิบัติการตามมาตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่ง 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องกองทุนทุเรียนไทยมีมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นลงมือทำเสียที มาถึงเวลานี้คงปล่อยวางเฉยไม่ได้อาศัยช่วงเวลาที่ศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดตราด ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันเรื่องนี้เข้าสภา ซึ่งตอนนี้ผมได้ร่างพรบ.กองทุนทุเรียนไทยเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นฉบับร่าง ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ขอให้มีตัวตนขึ้นมาก่อนจะปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไรก็ไปว่ากันอีกทีกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในปีเดียวเช่นเดียวกับ พรบ.กองทุนทุเรียนไทย ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปีเช่นเดียวกันหรืออาจจะถูกตีตกก็มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันแต่ถ้าเราไม่เริ่มทำวันนี้ พอถึงวันที่ทุเรียนขาลงเราจะนึกถึงกองทุนทุเรียนไทยมาทันที
" ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมาช่วงเดือนมีนาคมเกิดพายุฤดูร้อนที่จันทบุรีผลทุเรียนที่ใกล้เก็บเกี่ยวเสียหายราว1,500 ตัน ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยชาวสวนได้ชาวสวนจำใจต้องขายทุเรียนลมในราคาถูกเอาทุนคืน ทุเรียนลมนี้เข้าไปปั่นป่วนในตลาดทำให้ทุเรียนดีราคาตกทันที แต่ถ้าเรามีกองทุนทุเรียนไทยซื้อทุเรียนลมออกจากตลาดได้ปัญหาก็จะลดลง สุภาษิตจีนกล่าวว่า "ไม่เห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา "เช่นเดียวกันเราจะไม่รอให้ทุเรียนไทยล่มสลายแล้วค่อยลงมือทำ" นายชลธี กล่าวทิ้งท้าย