บิ๊กพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ลุ้นกรมปศุสัตว์สอบ "มานิจฟาร์ม" เข้าข่ายรายที่ 17 ?

10 ธ.ค. 2566 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2566 | 09:59 น.

บิ๊กนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ จี้กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบ “มานิจฟาร์ม” หลังผลิตพ่อแม่พันธุ์ -มีแผนส่งออกไปบังกลาเทศ ชี้หากเข้าข่ายผู้ประกอบการรายที่ 17 ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ขณะ “ชัยพรฟาร์ม” ปลดแอกซื้อลูกไก่พ่วงอาหารสัตว์ ขอนำเข้า ลุ้นเอ้กบอร์ดไฟเขียวแบ่งเค้กรายใหญ่

กรณี “มานิจฟาร์ม” ภายใต้บริษัท สยามเฮอริเทจบรีดดิ้ง จำกัด ได้สร้างความฮือฮาแก่วงการอุตสาหกรรมไก่ไข่และไก่เนื้อ โดยจะส่งออกพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ไปยังประเทศบังกลาเทศเป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มในกลางปี 2567 นั้น

บิ๊กพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ลุ้นกรมปศุสัตว์สอบ \"มานิจฟาร์ม\" เข้าข่ายรายที่ 17 ?

 

แหล่งข่าวจาก 1 ใน 16 บริษัทผู้นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีมานิจฟาร์มได้สอบถามไปยังกรมปศุสัตว์ ให้คำจำกัดความของมานิจฟาร์มว่าอย่างไร เป็นฟาร์มเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่ไข่ โดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือไม่ ซึ่งถ้าเข้าข่ายในลักษณะการพัฒนาสายพันธุ์เชิงพาณิชย์ และจะมีการส่งออกตามที่เป็นข่าว กรมปศุสัตว์ควรจะให้เป็นผู้ประกอบการ PS ไก่ไข่รายที่ 17 หรือไม่

 

 

 

 “มานิจฟาร์ม ควรต้องใช้กติกาเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ คือ บริจาคเงินเข้ากองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ดังเช่น 16 บริษัทด้วยหรือไม่ และในอนาคตผู้ประกอบการไก่ไข่ 16 บริษัท จะนำประเด็นของมานิจฟาร์มมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองใดๆ หรือไม่”

 

 

 

ขณะที่แหล่งข่าวกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จะเชิญนายมานิจ วิบูลย์พันธุ์ กรรมการ ผู้จัดการบริษัท สยามเฮอริเทจ บรีดดิ้ง จำกัด (บจก.) เจ้าของมานิจฟาร์ม เข้ามาให้ข้อมูลในการประชุมรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาพันธุ์สัตว์ของบริษัท อย่างไรก็ตามแม้เบื้องต้นทางกรมฯจะทราบข้อมูลแล้ว แต่ก็ไม่สามารถนำข้อมูลของผู้ประกอบการมาเปิดเผยได้ แต่จากการสอบถามผู้ประกอบการหลายรายบริษัทมีการนำไก่ไปทดลองเลี้ยงในสภาพแวดล้อมต่างประเทศ พบว่าพันธุ์ไก่ไข่ของมานิจฟาร์ม เป็นพันธุ์ผสมกับพันธุ์พื้นเมืองต้องการแสงธรรมชาติมากกว่าแสงในโรงเรือน

 

บิ๊กพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ลุ้นกรมปศุสัตว์สอบ \"มานิจฟาร์ม\" เข้าข่ายรายที่ 17 ?

นายมานิจ  วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บจก.สยามเฮอริเทจบรีดดิ้ง กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับ 16 บริษัทคือ บริษัทเป็นมิตรกับทุกคน เป็นแค่ตัวเลือก เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่เห็นว่าอะไรที่เมืองไทยทำได้ดี ควรให้การส่งเสริม อีกด้านหนึ่งสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ด้วย ถ้าคนไทยสนับสนุนกันเองตนก็จะพัฒนาสายพันธุ์ไก่ไข่ไปเรื่อยๆ และในปีหน้าหากราคาไก่ไข่ปรับตัวสูงขึ้นก็จะช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนจากพันธุ์สัตว์ที่นำเข้ามีราคาสูงกว่า

 

บิ๊กพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ลุ้นกรมปศุสัตว์สอบ \"มานิจฟาร์ม\" เข้าข่ายรายที่ 17 ?

ด้านนายชัยพร สีถัน กรรมการและผู้จัดการบริษัทในเครือชัยพรสหฟาร์ม เผยถึง ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ณ ปัจจุบัน ที่ 4 บาทต่อฟอง เกษตรกรก็ยังไม่มีกำไร เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐควรดำเนินการก่อนเพื่อช่วยลดต้นทุนคือ การยกเลิกระบบโควตาในการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ จากปัจจุบันพันธุ์สัตว์อยู่ที่ 27-30 บาทต่อตัว เช่นเดียวกับราคาอาหารสัตว์ก็มีแต่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะอยู่รอดได้ต้องมีพันธุ์สัตว์ใช้เอง และมีโรงงานอาหารสัตว์เอง ซึ่งกรมปศุสัตว์ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายกลางเข้าถึงแหล่งพันธุ์สัตว์ และให้ผสมอาหารสัตว์ใช้เอง เพื่อให้ทุกรายสู้กันด้วยคุณภาพ ส่วนรายย่อยไม่มีปัญหาเพราะอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีบริษัทดูแลอยู่แล้ว

บิ๊กพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ลุ้นกรมปศุสัตว์สอบ \"มานิจฟาร์ม\" เข้าข่ายรายที่ 17 ?

ล่าสุดบริษัทได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ จำนวน 7,200 ตัวต่อปี เพิ่มเป็นรายที่ 17 ของผู้นำเข้า โดยขอนำเข้าในปี 2567 เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการทำฟาร์มที่ยั่งยืน จากปัจจุบันบริษัทมองว่าไม่ได้รับการจัดสรรลูกไก่อย่างเป็นธรรม และต้องซื้อพ่วงอาหารสัตว์ ทั้งนี้หากได้รับอนุญาตนำเข้า จะว่าจ้างบริษัท อาร์.พี.เอ็ม.ฟาร์ม แอนด์ฟีด จำกัด เป็นผู้ดำเนินการผลิตลูกไก่ไข่ให้ ภายใต้ความร่วมมือโครงการจัดสรรพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เพื่อผลิตลูกไก่ไข่ แบ่งปันให้ผู้ประกอบการรายเดิมแบบไม่ผูกขาด (พี่ช่วยน้อง) โดยจะผลิตลูกไก่ไข่ขายในราคาต้นทุนไม่ค้ากำไรเกินควร และจะไม่บังคับพ่วงซื้ออาหารสัตว์ ในเรื่องนี้คาดกรมปศุสัตว์จะนำสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board)เพื่อพิจารณาต่อไป

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,947 วันที่ 10-13 ธันวาคม พ.ศ. 2566