นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับปากว่าจะมาพื้นที่หนองจอก กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหว่านข้าวโดยใช้โดรน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อทดแทนแรงงานไทยในภาคการเกษตรกำลังเผชิญปัญหาแรงงานผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน ทำให้มีแรงงานไม่เพียงพอต่อกระบวนการผลิต หากมีโดรนเข้ามาก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของเกษตรกรได้มาก
ปัจจุบันชาวนา เริ่มนิยมการใช้โดรนช่วยในการทำนา เพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากการใช้โดรน สามารถลดเวลาการทำงาน ลดการใช้สารเคมี และไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย อย่างไรก็ตาม เครื่องโดรนและอะไหล่นับว่ายังมีราคาแพง แต่ถ้ามีความคุ้มค่า ชาวนาก็พร้อมที่จะลงทุน
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ผมกับนายเดชา นุตาลัย ประธานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติและดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยด้วย ร่วมต้อนรับพร้อมกับสมาชิกชาวนากว่า 300 คน ในกรุงเทพฯ อาทิ เขตหนองจอง ลาดกระบัง และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา , ปทุมธานี และนครนายก ให้มาพบกับรัฐมนตรีเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของปัญหาชาวนา ในการที่จะนำไปเป็นการบ้านเพื่อไปดำเนินงานในโครงการฤดูถัดไป ในปีการผลิต 2567/68
"ที่สำคัญอยากจะขอขอบคุณรัฐบาลที่จ่าย "้เงินช่วยเหลือชาวนา" ผ่าน โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งในโครงการนี้ทำให้ชาวนาสามารถมีเงินที่จะปลูกข้าวได้ในรอบถัดไป"
“ส่วนในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ที่ระบุสายพันธุ์ว่าสามารถทำได้ ไร่ละ 1,200 -1,300 กิโลกรัม ถ้าทำได้จริง ผมจะออกมาโวยวายทำไม ที่ทำได้ ก็คือ แค่ "แปลงทดลอง" เท่านั้น แต่พอออกจากสู่ท้องนา ก็มีความไม่พร้อมหลายอย่าง เช่น ดิน น้ำ สภาพนา ไม่สม่ำเสมอ และที่สำคัญพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่ออกมา อาจจะไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้พันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจึงเพี้ยนและผลผลิตลดลง ปลูกก็ไม่คุ้มกับต้นทุนทั้งสารเคมี และค่าปุ๋ย ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ยังไม่นับอัตราเงินเฟ้อที่มากดดันทำให้ชาวนามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”