วิเคราะห์ อนาคตข้าวไทย หลังชาวนาหันปลูกข้าวสายพันธุ์เวียดนาม

17 ธ.ค. 2566 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 07:26 น.

“ดร.สมพร อิศวิลานนท์” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว วิเคราะห์ อนาคตข้าวไทย หลังชาวนาแห่ปลูกข้าวหอมพวง พันธุ์ข้าวจากเวียดนาม ในขณะที่การส่งออกข้าวพรีเมียมอย่างข้าวหอมมะลิ ที่เคยเป็นอันดับ 1 ก็กำลังสูญเสียตลาด

“ดร.สมพร อิศวิลานนท์” นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษวิเคราะห์ อนาคตข้าวไทย จะเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานข้าวไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หลังชาวนาแห่ปลูกข้าวหอมพวง พันธุ์ข้าวจากเวียดนาม

ข้าวหอมพวงผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ราคาสูง

ดร.สมพร อธิบายถึงสาเหตุผลที่ชาวนาไทยหันไปปลูกข้าวหอมพวง พันธุ์ข้าวพื้นนุ่มจากเวียดนาม ว่า วันนี้ความต้องการของตลาดบริโภคข้าวนุ่มมีทิศทางสูงขึ้น แต่ต้องราคาไม่แพง ซึ่งข้าวของเวียดนามตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะเป็นข้าวพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตสูง สามารถปลูกในพื้นที่ชลประทาน ผลผลิตสูง 800 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ต้นทุนต่ำลง ขณะที่เกษตรกรเองต้องการปลูกข้าวอายุสั้นที่มีอายุ 100 วัน ทำให้ข้าวหอมพวงที่นำเข้ามาปลูกตอบโจทย์กับเกษตรกร เกิดการแพร่กระจายตามมา

ดร.สมพร อิศวิลานนท์” นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว

“วันนี้ไปพูดถึงการออกไปไล่จับคนปลูกข้าวหอมพวง ผมมองไม่เห็นว่า ทำไมไม่ทำความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวนาถึงต้องไปเอาพันธุ์ข้าวหอมพวงมาปลูก ถ้าเราไม่ถามตัวเอง เราก็จะไม่รู้ แล้วไปวิ่งไล่จับ ความจริงเขาปลูกมา 7-8 ปีแล้ว ข้าวที่ลงทะเบียนรับเงินเมื่อก่อนนี้ก็คือข้าวหอมพวงทั้งนั้น ผมว่า Take action ผิดซีนไป แทนที่จะบอกว่า เราต้องกลับมาเช็กดูว่า มันพันธุ์อะไร มาได้อย่างไร คุณสมบัติเป็นอย่างไร ทำไมเกษตรกรถึงไปนิยมปลูก ไปไล่จับเขาไม่ได้"

จุดเด่นของข้าวหอมพวง คือมีอายุ 100 วันเท่านั้น ในช่วงฤดูแล้งถ้าปลูกในช่วงแสงแดดจัด ๆ ให้ผลผลิตถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะพันธุ์ข้าวของไทยปกติให้ผลผลิตประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวหอมพวงจึงตอบโจทย์เกษตรกรที่สามารถปลูกได้ 2 หรือ 3 ีอบต่อปี เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อก่อนโรงสีไม่รับซื้อข้าวหอมพวง แต่วันนี้โรงสีให้ราคาสูงกว่าข้าวพื้นนุ่มอื่นๆ อาจจะต่ำกว่าข้าวหอมปทุมเล็กน้อย จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น

 

ดร.สมพร มองว่าพันธุ์ข้าวหอมพวงที่เกษตรกรนำมาปลูกในไทย ถ้าเป็นพันธุ์ จัสมิน 85 เป็นพันธุ์สาธารณะ ไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่ได้ผิดอะไร เอามาปลูกได้และเป็นโอกาสของชาวนา วันนี้ข้าวขึ้นราคา ผลผลิตที่สูงและราคาสูง จูงใจให้ปลูก จะไปห้ามชาวนาในขณะที่โอกาสเขามาไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปห้าม

ปฏิรูปข้าวเวียดนาม 3 ลด 3 เพิ่ม

หากเทียบห่วงโซ่อุปทานข้าวไทยกับเวียดนามแล้ว เรากำลังอยู่ในขั้นที่เรียกว่ามีปัญหาในข้อห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเทียบกันแล้ว เวียดนามวันนี้สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้อย่างรวดเร็วมาก 

10 ปีที่แล้ว เวียดนามปลูกข้าวพื้นแข็งเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ปรับปรุงพื้นที่ให้มาปลูกข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น เราจะเห็นว่า มูลค่าส่งออกเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จากปี 2008 เวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้เพียง 2 แสนตัน แต่ปีที่ผ่านมาเวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้ 3.3 ล้านตัน 

ขณะที่ 10 ปีที่แล้วของไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ 2 ล้านตัน ค่อย ๆ ถดถอยลง เมื่อปีที่ผ่านมาส่งออกข้าวหอมมะลิเหลือ 1.4 ล้านตัน  และเมื่อบวกกับข้าวพื้นนุ่มอื่น ๆ เช่น ข้าวหอมปทุม เราส่งออกเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น 

“เวียดนามปฏิรูปข้าวไปได้รวดเร็วกว่าของไทยพอสมควร เพราะเวียดนามใช้นโยบายปฏิรูปการเกษตรตั้งแต่ปี 1986 นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม เพิ่มคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มกำไร ลดเมล็ดพันธุ์ ลดค่าปุ๋ย ลดค่ายา ทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มมากขึ้น”

สถานการณ์ส่งออกข้าวของเวียดนามวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่ส่งออกข้าวพื้นแข็ง (ข้าว 5 %) ราคา 371 เหรียญต่อตัน วันนี้ปรับมาเป็นการส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้ราคา 550-560 เหรียญต่อตัน เดือนที่ผ่านมา (พ.ย.66) ส่งออกได้ในราคา 770 เหรียญต่อตัน 

“การส่งออกข้าวของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ใช้พื้นปลูกที่เท่าเดิม เพียงใช้เทคโนโลยี และเปลี่ยน mindset ของเกษตรกรให้มาร่วมมือกันปรับข้าวพื้นแข็งให้มาปลูกข้าวพื้นนุ่ม ผลผลิตอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คุณภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าตอบแทนต่อไร่ได้สูงขึ้น” 

ชาวนาติดกับดักประชานิยม 

หันกลับมาดูนโยบายของไทยในช่วง 10 ปีที่มา ใช้งบประมาณไป 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อประชานิยมเป็นหลักใหญ่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข จำนำข้าวหมดเงินไป 6 แสนล้านบาท รัฐบาลประยุทธ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ใช้นโยบายประกันรายได้งบประมาณ 6 แสนล้านบาท 

“เราจะเห็นว่าการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขทำให้ หนึ่ง mindset ของเกษตรกรอยู่ที่กับดักประชานิยม รอการอุดหนุนลูกเดียว ถามว่า พัฒนาไปไกลไหม ไม่ได้พัฒนาไปเลย หยุดอยู่กับที่” ดร.สมพรระบุ

“ดร.สมพร” ชี้ให้เห็นเชิงเปรียบเทียบว่า งบวิจัยกรมการข้าวปีหนึ่งประมาณ 200 ล้านบาท เทียบกับเวียดนามประมาณ 3,000 ล้านบาท ไม่ได้เลย speed การพัฒนามีแต่ด้อยลง วันนี้เราไม่ได้พูดถึงสาเหตุที่แท้จริง ว่า ทำไมพันธุ์ข้าวของไทยถึงปฏิรูปได้ช้า ทำไมวิ่งไปได้ช้า เพราะเราติดอยู่กับกับดักประชานิยมกับการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข

มาถึงรัฐบาลเศรษฐายังให้อีก 5.6 หมื่นล้านบาท สำหรับอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ได้ฟรี ถ้าเอาเงินจำนวนนี้ มาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าว ทำเมล็ดพันธุ์ให้ดี ให้เกษตรกรเอามาแลกเมล็ดพันธุ์ดีไป เราก็จะผลิตข้าวได้คุณภาพที่ดีขึ้น 

ขณะเดียวกันหากเราเอาเงินอุดหนุน ไปใช้ในด้านงานวิจัยมากขึ้น เราก็จะมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ แต่วันนี้การทำงานด้านการวิจัยทรุดตัวลงมาก การจะเอาคนเข้ามาสานต่อมีความยากลำบากมาก 

“การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำ แล้วเราไปลงทุนในเรื่องของประชานิยมเป็นหลักใหญ่ คือ การอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข คือ สาเหตุหลักของ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับข้าวไทยในปัจจุบัน”

ตั้งหลักวิจัยสายพันธุ์ข้าว-ยกเครื่องระบบชลประทาน

“รศ.สมพร” บอกว่า “การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ข่าวเด่นได้ ต้องมาจากสายพันธุ์”

ประเด็นนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน หนึ่ง ข้าวในพื้นที่ชลประทาน วันนี้ปลูกข้าวไม่ไวแสง ปัญหาที่พูดกันอยู่คือข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง พื้นนุ่ม คือ ข้าวหอมพวง ซึ่งไทยมีข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง พื้นนุ่ม คือ ข้าวหอมปทุมธานี กข 71 กข 79 แต่ไม่ตอบโจทย์เกษตรกรตรงที่ว่า อายุมาก 120-130 วัน เกษตรกรไม่ชอบ ใช้เวลานานไปและผลผลิตไม่เท่าข้าวหอมพวง 

วันนี้ราคาข้าวขาขึ้น ถ้าคุณเป็นเกษตรกรจะไปปลูกข้าวที่ผลผลิตน้อยกว่าข้าวหอมพวงไหม ก็ไม่ปลูก เพราะราคาข้าวขึ้น ปลูกอะไรมาก็ซื้อ และวันนี้ให้ flavour ดีกว่าคนอื่น เกือบ 500-1,000 บาท เกษตรกรบ้านเรา วันนี้มันหยุดไม่อยู่ 

รัฐบาลจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ เรายังมีนักวิจัยที่มีความสามารถอยู่ เรายังมีจีโนมข้าว มียีนส์ของข้าวเกือบจะดีที่สุด เรามี stock asset ในส่วนนี้ แต่เราไม่มี Investment ในคน แรงงานคนที่จะเข้าไปในงาน Research พัฒนาคนเข้าไปในงานวิจัย เพื่อจะเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ตรงนี้เราน้อยเกินไป 

ดร.สมพร กล่าวว่า เรามีงบประมาณวิจัยพียง 200 ล้านบาท แต่มีเงินอุดหนุนเป็นแสนล้านบาท แต่เงินที่จะสร้างการผลิต ที่มี Productivity ที่ดี ไม่มี เช่น พันธุ์ข้าว ระบบชลประทาน ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรในการปรับตัวเป็น Community Base เวียดนามใช้ผู้ประกอบการส่งออกร่วมกับรัฐเพื่อส่งเสริมเกษตรกรชุมชนขึ้นมา ภายใน 10 ปีสามารถชิงตำแหน่ง flagship ของไทยได้ในตลาดส่งออกข้าวพื้นนุ่ม

สิ่งแรกรัฐบาลต้องมี mindset ที่จะมองในแง่ของการทำให้ข้าวไทยมีความโดดเด่น เราพูดแต่ไม่ค่อยได้ทำ นักการเมืองบ้านเราได้แต่พูด แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริง ๆ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้น ถ้ามีเป้าหมายว่า จะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป้าหมายแรก การปรับปรุงพันธุ์ เอาพันธุ์ที่ดีให้กับเกษตรกร เหมือนเวียดนามที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เกษตรผสมผสานตามมาอีก 

วันนี้เกษตรกรของไทย โดยเฉพาะภาคอีสานเป็นเกษตรกร part time หว่านเสร็จก็ไปทำงานอื่น ผลผลิตข้าวหอมมะลิจึงไม่ดี 355-400 กิโลกรัมต่อไร่ 

ข้าวหอมมะลิในภาคอีสานปลอมปนเยอะมาก ความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวไม่ได้ มีข้าวดีด ข้าวเด้งเต็มไปหมด รถเกี่ยวจากภาคกลางขึ้นไปเกี่ยวในภาคอีสานก็จะเอาข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงในภาคกลางตามไปด้วย 

ในทุ่งภาคคอีสานในวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์อยู่เยอะ เกษตรกรเก็บพันธุ์ไว้เอง ปลูกก็ได้พันธุ์บริสุทธิ์ เวลาไปปลูกก็ได้พันธุ์ที่ดี กลิ่นก็หอม นุ่มก็ได้ ผู้บริโภคซื้อไปก็ติดใจ 

ตลาดบนข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมยังขายได้

ตลาดข้าวพรีเมี่ยมในตลาดบนยังดีอยู่ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ยังติดใจข้าวหอมมะลิไทยอยู่ ผู้ส่งออกในกลุ่มนี้จะมีฐานการผลิตของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มการผลิตเฉพาะ เพราะต้องรักษาคุณภาพข้าวไว้ในการได้ซัพพลายที่แน่นอน ที่เชื่อถือได้และส่งออก

แต่การส่งออกข้าวของไทยในปัจจุบัน จากเสียงสะท้อนที่ได้รับขากพ่อค้าคนจีน เขาบ่นว่า ข้าวหอมมะลิไทยไม่หอมเหมือนเดิม เถ้าเทียบกับราคาข้าวเวียดนามแล้ว ข้าวเวียดนามถูกกว่า คนก็จะหันไปกินข้าวเวียดนาม มาร์เก็ตแชร์ของเราที่ส่งออกไปจีนก็หดตัวลง ๆ

วันนี้เราไม่ได้ดูแลสาวสวยในทุ่งกุลาให้เหมือนก่อน พอชาวนาเกี่ยวปุ๊บ เอารถเกี่ยว ไปโรงสีเลย ความชื้น 25 % โรงสีต้องอบความชื้นให้เหลือ 15 % การอบอย่างรวดเร็วโดยใช้ความร้อน ความหอมกับความนุ่มก็จะถูกกระทบกระเทือนส่วนหนึ่งแน่นอน

"ข้าวหอมมะลิ ถ้าเราดูแลดี ๆ ก็เหมือนสาวโสดในทุ่ง วันนี้ก็ยังไม่มีข้าวพันธุ์ไหนที่มาเทียบกับหอมมะลิได้ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ได้ใส่ใจสาวสวยในทุ่งของเรา เราปล่อยให้ข้าวหอมมะลิ เหมือนสาวสวยที่เป็นกาก เป็นเกลื้อน กลิ่นโคลนติดเต็มไปหมด จากความสวยก็ไม่สวยแล้ว ความบริสุทธิ์ของพันธุ์ไม่ได้ มีข้าวดีด ข้าวเด้งปนเข้ามา มีการใส่ปุ๋ยยูเรียมากทำให้ปฏิภาคกับความหอม การเก็บเกี่ยวแต่ก่อนใช้แรงงาน เอาแรงเกี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ใช้รถเกี่ยว ทำให้ข้าวหอมมะลิเสื่อมลง ทรุดลงไปกว่าเดิม"

อินเดียเจ้าตลาดส่งออกข้าว 

สำหรับการส่งออกข้าวตลาดจะแยกออกจากกัน ระหว่างข้าวคุณภาพ หรือ ข้าวนุ่ม กับข้าวขาว 5 % ซึ่งเป็นตลาดคนมีรายได้ต่ำบริโภคเพื่ออิ่มท้อง ตลาดที่มีรายได้ดี กำลังซื้อสูงจะหันมาบริโภคข้าวนุ่มมากขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ส่วนตลาดอาฟริกายังเป็นข้าว 5 % อยู่ แต่การผลิต ถ้าจะตอบโจทย์ต้องดูว่าเกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่สูงหรือไม่ คือ หนึ่ง ราคาต่อยูนิตสูง สอง ผลผลิตต่อพื้นที่สูง สองอันนี้อาจจะไปด้วยกันหรือไม่ไปด้วยกัน แต่ที่เราพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวก็คือให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น 

ขณะที่การปลูกก็ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนให้ต่ำลง เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เมื่อใดก็ตามที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงได้ ผลผลิตต่อไร่จะต้องสูง ก็จะตอบโจทย์ สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ 

"ดร.สมพร" ยกตัวอย่างว่า อินเดีย ทำไมถึงส่งออกได้ถึง 22 ล้านตัน เพราะระยะหลังอินเดียใช้ในเรื่อง hybrid rice เข้ามา ทำให้ผลผลิตสูงมาก 1 พันกิโลกรัมต่อไร่ ขายได้ 320-340 เหรียญต่อตัน อินเดียถึงแย่งมาร์เก็ตแชร์จากประเทศอื่น ๆ ได้หมด 

ขณะที่เวียดนามเองบอกว่า ต่อไปนี้จะลดการผลิตข้าวพื้นแข็งให้น้อยลง หันมาสนใจคุณภาพให้มากขึ้น ตามสโลแกน 3 ลด 3 เพิ่ม เวียดนามจึงทำเรื่องคุณภาพมาโดยตลอด ส่งออกข้าวไม่เกิน 7-8 ล้านตัน พร้อมกับปรับพื้นที่ไปปลูกพืช high value อื่นๆ  

เวียดนามชิงมาร์เก็ตแชร์ข้าวพื้นนุ่ม 

ดร.สมพรมองว่า ความเป็นเจ้าตลาดข้าวของไทยคงสู้อินเดียไม่ได้ แต่ว่าเราจะรักษาตลาดมาร์เก็ตแชร์ในส่วนของข้าวพื้นนุ่มได้อย่างไรเป็นคำถามที่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร 

ถ้าเราไม่ได้พัฒนาอะไรเลยตั้งแต่วันนี้ ตลาดข้าวพื้นนุ่มของเราจะถูกแย่งโดยเวียดนามอย่างสิ้นเชิง วันนี้เวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มมาเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่ไทย และมีความต่อเนื่องในนโยบายพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพให้มากขึ้น แต่ไทยนโยบายไม่มีความชัดเจน

มิติของนักการเมืองเมืองไทยมองผลประโยชน์ในระยะสั้นที่ตัวเองจะได้ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น หรือความอยู่ดีกินดีของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว วันนี้นักการเมืองแจกไปก็ได้คะแนนเสียง แต่เรื่องการปูพื้นฐานด้านชลประทาน การปรับปรุงพันธุ์ไม่ได้เห็นผลใน 1ปี 2ปี แต่เห็นผลต้องใช้เวลา 3-4 ปี วิธีนี้นักการเมืองไม่ชอบ 

"ถ้านักการเมืองเห็นภาพเหล่านี้ ควร rotation งบประมาณ ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนในด้านงานวิจัย ในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำให้มากขึ้น แต่วันนี้จ่ายงบกลางไปในเรื่องการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข"

ข้าวเกษตรอินทรีย์เรือธงใหม่ 

“ดร.สมพร” มองว่าในวิกฤตข้าวหอมมะลิเป็นโอกาสของ “ข้าวอินทรีย์” จะเป็นข้าวเรือธงต่อไป แต่นโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่ประกาศมาโอบอุ้มข้าวเกษตรอินทรีย์ขนาดไหน ไม่ได้ดูแลสาวสวยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย และวันนี้ยังเอาข้าวหอมมะลิที่ปลูกนอกเขตทุ่งกุลา เป็นข้าวหอมจังหวัดเอาเข้ามาใส่ในข้าวหอมมะลิอีก เราจึงต้องปรับวิธีคิดใหม่ ทำใหม่ หันมาปฎิรูปข้าวอย่างจริงจัง