ย้อนไป เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะตรัฐมนรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเพิก เลิศวังพง เป็นประธานกรรมการ หรือประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย คนใหม่ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เพิก เลิศวังพง” ถึงนโยบายเด่น ๆ ในการขับเคลื่อนบริหารยางพาราทั้งระบบ หลังเจ้าตัวประกาศขอเวลา 6 เดือน จะผลักดันราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ให้ได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน นโยบาย EU Deforestation Free Regulation หรือสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) 100% หากไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ขออยู่ต่อ
ก้าวย่างก่อนขึ้นประธานบอร์ด
นายเพิก กล่าวว่า ตนคลุกคลีอยู่กับวงการยางพารามากว่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่ครอบครัวปลูกยางพารา ที่แก่งหางแมว (อำเภอหนึ่งของ จ.จันทบุรี) จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้เห็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจการยางพาราในหมู่บ้านประสบปัญหาการขาดทุนก็ได้ไปช่วยเหลือ โดยดึงสหกรณ์ต่างๆ ในจังหวัดที่มีประมาณ 18 สหกรณ์ มาดำเนินธุรกิจ ดีลแรกดึงตัวแทนญี่ปุ่นที่มีบริษัทตั้งอยู่ในประเทศไทย มาเซ็นสัญญา ซึ่งได้ให้เงิน 5 แสนบาท เพื่อให้ซื้อยางส่งไปญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้จดทะเบียนเป็นชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดจันทบุรี โดยมีเงินทุนแค่ 36,000 บาท และใช้เวลาเพียงปีเดียวมียอดขายกว่า 40 ล้านบาท มีกำไร 8.7 แสนบาท
“ในปีนั้นทั้งผมและชุมนุมสหกรณ์ฯก็มีชื่อเสียงและถูกกล่าวขวัญ หน่วยงานราชการก็นำไปประชาสัมพันธ์ให้เป็นโมเดลต้นแบบเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมนุมสหกรณ์ทั่วประเทศ ในที่สุดก็ขึ้นเป็นเบอร์ต้นๆ ของแกนนำยางพาราที่เจรจากับรัฐบาล หลายอย่างที่รัฐบาลดำเนินนโยบายมาจากการเรียกร้องในอดีตมาสู่การปฏิบัติในปัจจุบันก็ยังมี กระทั่งไม่เห็นด้วยกับการรวมตัว 3 องค์กรยาง ได้แก่องค์การสวนยาง (อสย.), สถาบันวิจัยยาง (สวย.) และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เป็นการยางฯ จึงได้วางมือ แต่ก็ได้จับตามองห่างๆ ล่าสุดได้รับการไว้วางใจจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีเกษตรฯ ให้เข้ามาบริหารยางทั้งประเทศ เป้าหมายเกษตรกรต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี”
ทำราคาขึ้นได้แต่ยังไม่ยั่งยืน
สำหรับ “ยางพารา” มองว่ายังมีอนาคต แต่ต้องดึงความเชื่อมั่น โดยยางพาราเป็นพืชรายวัน คือไปกรีดวันไหนก็ได้เงินวันนั้น มีพืชอะไรที่มหัศจรรย์กว่านี้ไม่มีแล้วที่สำคัญต้องทำมูลค่าเพิ่มให้ยางพารา ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่ตนมีอยู่ทำแล้วราคายางจะขยับขึ้นได้ แต่มีเงื่อนไข “เราทำให้ขึ้นได้ แต่ยืนระยะไม่ได้” ซึ่งได้บอกชัดเจนตั้งแต่แรก
“ท่านรัฐมนตรีฯถามว่า ถ้าทำให้ขึ้นแล้วยืนระยะได้ จะต้องทำอย่างไร ผมก็ตอบไปว่าต้องใช้กลไกเยอะ เพราะร้อยปีที่ประเทศไทยปลูกยางพารามา ไม่ได้สร้างกลไกทางการตลาดที่จะชี้นำได้เลย อย่าว่าแต่ชี้นำโลกเลย แม้แต่ชี้นำราคาในประเทศก็ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างใหม่”
แย้ม 3 ทางลัดดันราคาขยับ
สำหรับการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เป็นองค์กรของรัฐ เป็นที่พึ่งเกษตรกรชาวสวนยาง 6 ล้านครอบครัว เป็นคนที่กำกับในเรื่องการซื้อขาย และการค้ายางในประเทศ ถ้ากำกับในประเทศไทยได้ ก็เท่ากับกำกับโลกนี้ได้ด้วย อันดับแรกที่เสนอรัฐมนตรีไปคือ 1.ปราบยางเถื่อนลักลอบนำเข้าจากเมียนมา ที่เวลานี้มีสถานการณ์สู้รบ ทำให้ยางมีคุณภาพตํ่ากว่าหนีขายเข้าไทย 2.ตรวจสต๊อกยางทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ทำให้ทราบว่าแต่ละโรงงานมีสต๊อก มีสัญญา และจะส่งมอบเมื่อไร และ 3.ยางที่ลักลอบส่งออกโดยไม่เสียภาษี (ยังไม่ได้ดำเนินการ) เพราะแค่เพียง 2 มาตรการราคายางก็ขยับได้จริง
จากก่อนหน้านี้ราคาขี้ยาง (ยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย) อยู่ที่ 20 บาทต่อกก. ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อกก. , ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ ราคา 57.35 บาทต่อ กก. จากก่อนหน้าอยู่ที่ 49.25 บาทต่อกก. โดยมีราคาเป้าหมายราคา 60 บาทต่อ กก. ที่ต้องทำให้ได้ภายใน 6 เดือน พร้อมกับการทำแบรนด์ กยท. อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี นํ้ากรดยางพารา ยางปราบศัตรูพืช ทุกชนิดที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิต
ยกตัวอย่างเคยซื้อปุ๋ยยางแจกเกษตรกรใช้งบ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ถ้าทำเอง จะใช้งบประมาณไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาท โดยมอง 2 รูปแบบคือ ไปจ้างโรงงานผลิต หรือ เช่าโรงงานพร้อมเครื่องจักรผลิตในแบรนด์ กยท. เพื่อจะได้นำเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนา 500 ตลาด ในเครือ กยท.ที่มีปริมาณยางซื้อขายเฉลี่ย 1 ล้านตันต่อปี และเพื่อรองรับ EUDR ที่แจ้งมาแล้วว่ามีความต้องการใช้ยางในโลก 4 ล้านตัน
“การทำมาตรฐานตรวจสอบย้อนกลับ จะใช้เป็นธงในการขยับราคา เป็นค่าพรีเมียมสูงกว่าราคายางทั่วไป 3 บาทต่อกิโลกรัม ก็ขอแจ้งพี่น้องชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ ที่มาขายยาง ผ่าน 500 ตลาด ที่ กยท.รับรอง EUDR 100% จะต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด”
ออกโฉนดต้นยางคํ้ากู้เงิน
นายเพิก กล่าวอีกว่า กยท.ยังมีแผนจะรับรองโฉนดสวนยางพาราทุกแปลงในประเทศไทย 18- 22 ล้านไร่ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด เกษตรกรสามารถเอาต้นยางมาตีเป็นมูลค่าได้ ยกตัวอย่างมี 10 ต้น ต้นละ 500 บาท สถาบันการเงินจะตีมูลค่าให้กับต้นยางมีมูลค่า 5,000 บาท คล้ายกับทะเบียนรถ เมื่อมีโฉนดแล้วก็สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันในการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ โดยเกษตรกรจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยต้นยาง (กำลังคิดราคาเบี้ยประกัน)
“ถ้าไม่ได้เอาโฉนดต้นไม้ยางไปกู้ ก็ไม่ต้องทำประกันก็ได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่ต้องกู้ ก็ต้องยอมรับในการเสียเบี้ยประกันด้วย อย่างไรก็ดี ต้องรอความชัดเจนในการประชุมบอร์ด วันที่ 25 มกราคมนี้ หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนามประกาศคิกออฟต่อไป”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,957 วันที่ 14-17 มกราคม พ.ศ. 2567