วันที่ 1 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” มี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในนโยบายที่ประกาศจะเร่งดำเนินการใน 100 วันแรกคือ ราคายางพาราจะต้องไม่ตํ่าไปกว่านี้ โดยขณะนั้นราคานํ้ายางสดอยู่ทีี่ 44.20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.), ยางแผ่นดิบ 47.10 บาทต่อกก. และยางแผ่นรมควัน 49.25 บาทต่อกก. ล่าสุด (11 ต.ค.66) ราคายางพาราทุกชนิดขยับขึ้น 4-5 บาทต่อกก.อย่างมีนัยสำคัญ
นายเพิก เลิศวังพง คณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการยางพารา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่รัฐมนตรีเข้ามาบริหารกระทรวงเกษตรฯ และได้แต่งตั้งคณะทำงานฯเข้ามาช่วยดูแล และบริหารจัดการยางพารา โดยเข้มงวดเรื่องยางเถื่อน ยางส่งออกหนีภาษี การเร่งตรวจสต็อกยางพาราโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมวิชาการเกษตร และให้ประมาณการผลผลิตยางพาราจากวันนี้ถึงเดือนธันวาคมว่า จะมีปริมาณยางเท่าไรในประเทศ ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผลเชิงจิตวิทยา ต่อราคายางในประเทศที่ชาวสวนขายได้จริง
โดยระยะกว่า 1 เดือนของการเข้ามาบริหารจัดการยางพารา ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ราคายางทุกชนิดในประเทศได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 4-5 บาท ต่อ กก. จากก่อนหน้านี้ ขี้ยาง (ยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย) อยู่ที่ 20 บาทต่อกก. ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อกก. , ยางแผ่นรมควันขยับขึ้นมาอยู่ที่ ราคา 54.06 บาทต่อกก. จากก่อนหน้าอยู่ที่ 49.25 บาทต่อกก. (กราฟิกประกอบ)
“แผนต่อไปของเราคือ จะทำให้ราคายางในประเทศไทยให้เป็นราคายางของตลาดโลก แม้ว่าจะมีคนมาบอกผมว่าขายแพงจะมีใครมาซื้อ ก็แน่ล่ะเพราะคนซื้อ ได้ของถูกมาตลอด และคิดว่าจะซื้อถูกต่อ แต่วันนี้ผู้ประกอบการในไทยจะต้องซื้อต้นทุนแพงขึ้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาปรับฐานขึ้นไป เพราะตอนนี้คนขายก็มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างวันนี้กลุ่มโรงรมยางแผ่นรมควันเอกชนรายย่อยทางภาคใต้ กลับถามมาสถาบันเกษตรกรว่าจะขายเท่าไรแล้ว”
นายเพิก กล่าวอีกว่า จากราคายางที่ขยับขึ้น ทำให้เวลานี้การยางแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ใช้งบ 600 ล้านบาท ในการรักษาเสถียรภาพราคายาง แต่หากราคาตลาดบิดเบี้ยวไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ก็พร้อมใช้งบในการช้อนซื้อยางจากเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ
ด้าน นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย กล่าวว่า ราคานํ้ายางสดเวลานี้ปรับเพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐ จากซัพพลายออกมาน้อยจากช่วงนี้ฝนตกมาก และจากโรคใบร่วง ทำให้ผลผลิตลดลง ที่สำคัญยางแท่งราคาปรับตัวสูงขึ้น ตามกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้มีความต้องการล้อยางที่ต้องใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ราคายางทุกชนิดปรับตัวขึ้น โดยราคานํ้ายางสด ณ ปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 50-51 บาท ต่อกก. ซึ่งตลาดเริ่มกลับมา แต่ยังไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ นายกรกฎ กิตติพล เลขาธิการ สมาคมยางพาราไทย กล่าวถึง จากสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทุกคนยังกังวลและจับตาว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร จะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ เป็นประเทศผู้ซื้อยาง เช่น อียิปต์ ตุรกี และอิหร่าน ซึ่งจากสถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอน หลายประเทศอาจกังวล และนำงบไปใช้ซื้ออาหาร หรืออาวุธตามความจำเป็นก่อน ทำให้โรงงานแปรรูปยางพาราไทยคาดจะชะลอตัว ไม่กล้าเดินเครื่อง 100% เพราะปัจจัยดังกล่าวคาดจะมีผลไม่มากก็น้อย เหมือนตอนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“ในเวลานั้นมีการแจ้งว่าการส่งออกยางไปรัสเซียไม่เยอะ ยูเครนไม่มีเลย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ก็มีการส่งน้อย แต่สุดท้ายสงครามในปีนั้นก็มีผลต่อต้นทุนการผลิต และความต้องการยางหายไป ทั้งจากการปิดโรงงานที่เกี่ยวเนื่อง การย้ายฐานการผลิต มีความเชื่อว่าเอฟเฟกต์ตัวนี้จะมีความคล้ายกันแล้วสุดท้ายจะกระทบกับราคา แต่อีกด้านเวลานี้ก็มีสัญญาณบวกเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้น เป็นผลบวกต่อราคา สอดคล้องกับราคาในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ มีนักลงทุนเริ่มมาซื้อหาวัตถุดิบกันแล้ว ทำให้ราคายางทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น”
นายกรกฎ กล่าวอีกว่า ปลายปีนี้คาดจะมีการแย่งซื้อวัตถุดิบยางพารากันรุนแรงขึ้น เนื่องจากวันนี้ฝนยังตกไม่หยุด และยังมีโรคใบร่วง จากการประเมินวัตถุดิบคาดจะหายไปกว่า 20% ทั้งประเทศ และคาดในปีหน้า ผลผลิตจะน้อยลงกว่าในปีนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวกระตุ้นทำให้การซื้อของแต่ละโรงงานจะต้องมีการซื้อสต็อกยางเพื่อไว้ขายให้ลูกค้า ซึ่งเป็นผลดีกับเกษตรกร
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,931 วันที่ 15-18 ตุลาคม พ.ศ. 2566