นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่นโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร ให้เป็นผลสำเร็จเกษตรกรต้องกินดีอยู่ดี ครอบครัวกระทรวงเกษตร ต้องทำงานเข้มแข็งพร้อมแก้ปัญหา ช่วยเหลือและพัฒนาเดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรทุกชนิดกรมวิชาการเกษตรจึงมีการเตรียมความพร้อมทั้งกับเกษตรกร ผู้ประกอบการล้ง หน่วยงานภาครัฐ และ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หอการค้าจังหวัด
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย – จีนสมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนสำหรับส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ไปจีน ฤดูกาลส่งออก ปี พ.ศ. 2567 เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนให้เป็นทุเรียนคุณภาพดีตามพิธีสาร ไทย-จีน ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งหมด 57,000ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณสูงถึง 945,900 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท (จากปีก่อนส่งออก 8.11 แสนตัน มูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท) โดยส่งออกทางรถยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.9 รองลงมาคือทางเรือ ร้อยละ 31.72 ทางอากาศ ร้อยละ 3.21 และทางรถไฟ ร้อยละ 1.17 โดยทุเรียนถูกส่งออกจากประเทศไทยจากด่านนครพนมมากที่สุด รองลงมาคือ ด่านเชียงของ และด่านท่าเรือแหลมฉบัง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แผนการรับมือฤดูกาลส่งออกทุเรียน 2567 ตนได้มอบหมายให้ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (ผอ.สวพ 6) จัดทำแผนการบริหารจัดการปฏิบัติงาน “จันทบุรีโมเดล”เป็นแนวทางการปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพการส่งออกทุเรียน เพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนไทย โดยในส่วนของวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2567 (จันทบุรี ตราด ระยอง) มีดังนี้
หากเกษตรกรจะตัดทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยวต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่กำหนด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งแป้งทุเรียนตามมาตรการตรวจก่อนตัดจากสวน สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องแจ้งด่านตรวจพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เข้าตรวจก่อนการตรวจปิดตู้ของด่าน ย้ำหากพบการกระทำผิด ฝ่าฝืน จงใจ ค้าขายทุเรียนอ่อน มีโทษตามกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ผอ.สวพ. 6) กล่าวว่า สวพ.6 ได้มีการประชุมเตรียมการกับส่วนราชการอื่น/ผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ตรวจสอบเอกสาร GAP ทุเรียนของตนเองก่อนฤดูกาลส่งออก ผ่านช่องทาง Web page สวพ.6,Line กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้ผลิตทุเรียน สร้างการรับรู้เกษตรกรในการรับรองสำเนาเอกสาร GAP สำหรับจำหน่ายทุเรียนแก่ผู้รับซื้อ
นอกจากนี้ยังกำหนดจัดประชุมเตรียมความพร้อม “กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร: หลักปฏิบัติในการตรวจ และรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ 9070-2566) ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในส่วน แปลงทุเรียนภาคคะวันออกมีพื้นที่ให้ผลผลิต 424,772 ไร่ โดยในส่วนของแปลงทุเรียนที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานศุลการกรของจีน (GACC) จำนวน 30,809 แปลง พื้นที่ 393,459 ไร่ หรือคิดเป็น 92% ของพื้นที่ให้ผลผลิตสวพ.6 ได้จัดหน่วยบริการ GAP เคลื่อนที่ และร่วมกิจกรรมออกหน่วยให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์
สำหรับบริการเกษตรกรในการขึ้นทะเบียน GAP เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร รับสมัคร ต่ออายุ แก้ไข ตรวจสอบ ข้อสงสัยด้านการตรวจรับรอง GAP แก่เกษตรกรในพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่สำคัญ มือตัดทุเรียน ต้องย้ำให้เข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเกษตรจังหวัดที่รับผิดชอบ ในการขึ้นทะเบียน นักคัด นักตัดทุเรียน ในส่วนของล้ง กรมวิชาการเกษตรได้แยกสีล้ง เป็นสีเขียว เหลือง แดง และวางแผนในการเข้าตรวจตามประเภทที่ได้จัดเกรดไว้ ดังนั้นของเชิญทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนดเพื่อให้เป็นสีเขียว ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาชื่อเสียงของล้งแต่ละแห่งด้วย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการดำเนินการบริหารจัดการทุเรียนส่งออกไปจีนของภาคตะวันออกฤดูกาลส่งออกปี พ.ศ.2567 ประกอบด้วย คำสั่งมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ เป็นผู้จัดการพื้นที่ตรวจผลทุเรียนสด (Durian Inspection Zoning: DIZ) ตลอดฤดูกาลส่งออกปี 2567 โดยได้เพิ่มผู้จัดการฯ ของพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และยะลา เพื่อรองรับการส่งออกทุเรียนจากแหล่งผลิตในพื้นที่ใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และคำสั่งมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นนายตรวจพืชสำหรับทุเรียน ซึ่งระดมกำลังจากด่านตรวจพืชทั่วประเทศ เพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออก
กรมวิชาการเกษตรกำหนดจัดประชุมเตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบคุณภาพ รับรองสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขการส่งออกตามพิธีสาร ไทย-จีน และจะมีการนำร่องใช้ application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตทุเรียนจากแปลง GAP ของเกษตรกร เชื่อมโยงกับระบบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-phytoก่อนจะเปิดใช้เต็มระบบต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยตรวจสอบย้อนกลับป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรอง GAP ได้อย่างยั่งยืนร่วมกับทีมพญานาคราช และหน่วยงานความมั่นคง