KEY
POINTS
"กางเกงช้าง" กางเกงขายาวน้ำหนักเบาลายช้างแปลกตาที่เหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ใส่กลายเป็นประเด็นไวรัล ตั้งแต่จุดศูนย์กลางการยกให้เป็นหนึ่ง ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่รัฐบาลพยายามผลักดันและโปรโมทผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักไปจนถึงมี "กางเกงช้างเมดอินไชน่า" นำเข้าจากจีนมาตีตลาดในประเทศไทย พร้อมกับทุบราคาต่ำกว่าไทยลงครึ่งหนึ่งจนได้รับความนิยมจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายต่อ ซึ่งหากใครไปเดินตามตลาดผ้าค้าสั่งชื่อดัง ก็ต้องพบว่าแทบทุกซอยของตลาดเหล่านั้นมีการวางจำหน่ายกางเกงช้างทั้งแบบส่งและปลีก มีทั้ง Made in Thailand และ Made in China อย่างเเน่นอน
เรื่องนี้สะเทือนไปถึงนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" และ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ระบุว่าเป็นการ "ละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา" เเละฉวยโอกาสทางการค้า จึงสั่งการด่วนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งตรวจสอบกรณี นำเข้ากางเกงลายช้างที่ผลิตจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสทางการค้า
ส่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่ากางเกงช้างมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายลวดลายช้างสร้างสรรค์โดยคนไทย ส่วนหนึ่งมีการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว บุคคลอื่นจะนำลวดลายไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้ รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้
โดยให้กรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าต้องสงสัย ว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกด่านชายแดนของไทย พร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในท้องตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะกางเกงลายช้างเท่านั้น
เมื่อพิจารณากรณีการห้ามนำเข้ากางเกงช้างที่มีราคาถูกจากจีนเข้าประเทศไทยมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา 2 ฉบับ คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ ว่า กางเกงช้างเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ในประเด็นนี้มีข้อพิจารณาว่า ผู้ใดในประเทศไทยเป็นผู้ออกแบบและเขียนแบบช้างและลวดลายบนกางเกงช้างขึ้นแต่แรก จนมีการผลิตออกจำหน่าย ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กางเกงช้างตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องจดทะเบียนหรือดำเนินการใดฯ ซึ่งอาจเพียงแจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น
ประเด็นการห้ามนำกางเกงช้างที่ผลิตจากจีนที่เข้าข่ายถือได้ว่าเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าของลิขสิทธิ์กางเกงช้าง ควรแจ้งข้อมูลต่อกรมศุลกากร เพื่อให้กรมศุลกากรดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมศุลกากรที่กำหนดไว้
เเละหากเป็นงานมีลิขสิทธิ์ และปรากฎเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ชัดแจ้งก็สามารถห้ามนำเข้าตาม กฎหมายว่าด้วยการนำเข้ามาและการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
สินค้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังต่อไปนี้ คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกาหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคมคม พ.ศ. 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น ซึ่งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30เมษายนจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
ถือเป็นการปรับปรุงมาตรการห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกาหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เเละให้สินค้าดังต่อไปนี้ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า หรือห้ามนำผ่าน ราชอาณาจักร
นอกจากนี้ยังในประกาศดังกล่าวยังไม่ให้ใช้บังคับแก่ของติดตัวในปริมาณที่ไม่มากเกินสมควรโดยไม่มี ลักษณะในเชิงพาณิชย์ ส่วนเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้าหรือ ลิขสิทธิ์ต่อพนักงานศุลกากรเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบสินค้าที่มีหรืออาจมีลักษณะตามข้อ 4ได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด
เมื่อมีกฎหมายที่ต้องพิจารณา หมายความว่า ไม่ใช่ใครจะสามารถดำเนินการห้ามนำเข้าได้ทันที เพราะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน
เรื่องราวการปกป้องกางเกงช้างไทย
หากย้อนไปเมื่อปี 2562 เนื่องจากมีชาวต่างชาติบางคนบอกว่าการออกแบบกางเกงช้างไม่ใช่ของไทย จนมีบทความหนึ่งที่ออกมาปกป้องกางเกงช้าง ในเว็บไซต์ Frontier Myanmar
เขียนโดย Jared Downing โดยได้อธิบายว่ากางเกงช้างมีอยู่ทั่วไป ในตลาดโบโจ๊กอองซาน ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าที่ระลึกชื่อดังในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาก็มีเช่นกัน เขาอธิบายถึงที่มาที่ไปของกางเกงช้างโดยเน้นย้ำว่ามาจากประเทศไทย