สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ปะทุขึ้นในปี 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยสหรัฐสั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มหลายพันรายการเพื่อลดขาดดุลการค้า ส่งผลให้จีนหันมาค้ากับอาเซียน (10 ประเทศรวมไทย) ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันมากขึ้น จากมีแต้มต่อภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันลดเป็น 0% เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้จีนซึ่งเป็นโรงงานผลิตของโลก สามารถทะลุทะลวงตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ได้มากขึ้นทุกขณะ ซึ่งได้ส่งผลกระทบการค้าไทยกับอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วน 23-25% ของการส่งออกโดยรวม) อย่างชัดเจน
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2566 ล่าสุด การค้าไทย-อาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่ารวม 4.00 ล้านล้านบาท ลดลง 7.68% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกของไทยไปอาเซียน มูลค่า 2.30 ล้านล้านบาท ลดลง 7.59% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากปี 2563 หลังเกิดวิกฤตโควิด (ในปี 2562) ที่การส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียนติดลบ 11.75%
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สินค้าไทยที่ส่งออกไปอาเซียนที่ติดลบในปี 2566 เป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ปัจจัยจากจีน คือ 1.สินค้าจีนเข้าไปขายในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น และเข้าไปแทนที่สินค้าไทย 2.สินค้าไทยศักยภาพการแข่งขันลดลง จากต้นทุนการผลิตที่สูง ขณะที่สินค้าจีนต้นทุนการผลิตตํ่า 3.นโยบาย China+1 และ BRI ของจีนที่ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจด้านการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศอาเซียน ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้งวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป แทนที่สินค้าไทย
ส่วนปัจจัยจากอาเซียน คือ 1.นโยบายการปกป้องสินค้าของประเทศอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น และ 2.การบังคับมาตรฐานสินค้าในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และ SMEs ของประเทศอาเซียน
“การค้าอาเซียนที่รวมถึงไทยกับจีนที่เพิ่มขึ้น หลังสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีน และยังมีต่อเนื่องในสมัยโจ ไบเดนในปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้จีนหันมาค้ากับอาเซียนมากขึ้น รวมถึงย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียน เพื่อใช้เป็นฐานส่งออกแทนฐานผลิตในจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีนำเข้าที่สหรัฐทำสงครามการค้ากับจีน ขณะเดียวกันจีนหันส่งออกมาในอาเซียน เพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลงของสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนลดลงในรอบหลายปี โดยในปี 2566 สหรัฐขาดดุลการค้าจีนลดลงเหลือ 279,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2566 ขาดดุล 382,000 ล้านดอลลาร์”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จีนได้มุ่งหน้าหันมาค้าขายกับอาเซียนมากขึ้น และอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนสหรัฐไปแล้ว โดยยอดการค้าจีน-อาเซียนพุ่งเป็นปีละกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมาการค้าจีน-อาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น 6-7% โดยที่จีนได้เปรียบดุลการค้าอาเซียนทุกประเทศ
“แนวโน้มสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในอาเซียนรวมทั้งไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากจีนพลิกตัวเร็วมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศ ขณะเดียวกันเขาก็เข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในอาเซียนมากขึ้น โดยมีไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายหลัก มีมาเลเซียแถมมานิดหน่อย ซึ่งเราได้ประโยชน์ในแง่การลงทุน แต่จะเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในอาเซียนให้จีนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดูแลนโยบายและมาตรการนำเข้าต่าง ๆ ต้องมีความเข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่”
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า การค้าไทย-จีนในปี 2566 ได้กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี (นับจากปี 2562 ที่การค้าไทย-จีนติดลบ) โดยปี 2566 การค้าไทย-จีน(สัดส่วน 18% ของการค้าไทยกับโลก) มีมูลค่า 3.64 ล้านล้านบาท -0.80% แยกเป็นการส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท -1.26% การนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท -0.58% ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.29 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาแสดงความกังวลกรณีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ (จากจีน) ได้เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและตลาดอาเซียนทั้งจากสินค้าออนไลน์(อี-คอมเมิร์ซ) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท และทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone และเร่งออกมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลจะมีการเก็บ VAT ในการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท มองว่า ไม่มีผลทำให้การซื้อขายลดลง แต่ยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าจีนเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะกำหนดราคาสินค้าตํ่าไป ทั้งนี้ควรออกมาตรการเพิ่มเติมแทน เช่น 1.ควรกำหนดราคาขั้นตํ่าสินค้านำเข้าเพื่อซื้อขายออนไลน์ หากราคาไม่เกิน 3,500-4,000 บาท ห้ามซื้อขายออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเปิดโอกาสให้กับสินค้าไทย
2.เก็บภาษีสินค้าจีนที่ราคาขายตํ่ากว่าราคาสินค้าไทย 3.กำหนดขนาดพื้นที่คลังสินค้าจีนใน Free Trade Zone ให้เล็กลง และอยู่ให้ในต่างจังหวัดที่ห่างจาก กทม. 200 กม. หรือมากกว่าและห่างจากเมืองใหญ่ในภูมิภาค เป็นต้น เพื่อให้มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นเหมือนที่อินโดนีเซียทำ 4.การขายสินค้าออนไลน์ ต้องมีการกำหนดสัดส่วนการซื้อขาย เช่น สินค้าไทยต่อสินค้าจีน 50 : 50 และ 5.กำหนดกรอบวันในการนำเข้าสินค้าจีน เช่น ช่วงฤดูผลผลิตของไทย ห้ามนำเข้าสินค้าจีน หรือกำหนดช่วงระยะเวลา และสัดส่วนการนำเข้า นอกจากนี้ในการค้าในช่องทางปกติควรมีการทบทวน FTA ทุกกรอบในทุก 5 ปี เพื่อประเมินผลกระทบ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า กรณี สินค้าจีนทะลักเข้ามาขายในไทยผ่านช่องโหว่ทางกฏหมาย ทั้ง Free Trade Zone และการเว้นภาษี VAT สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ในส่วนของ Free Trade Zone นั้นคงยกเลิกไม่ได้ เนื่องจากส่งผลกระทบมาก แต่ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้นำสินค้าจาก Free Trade Zone ซึ่งเป็นจุดพักสินค้าไปต่างประเทศออกมาจำหน่ายในประเทศ
ส่วนเรื่องการเว้นภาษี VAT สินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท อาจบังคับใช้กฎหมายเว้นภาษี VAT สำหรับสินค้ามูลค่าตํ่ากว่า 100 บาท เหมือนกับอินโดนีเซีย ส่วนราคาสูงกว่าให้เก็บตามปกติ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม จะต้องเชิญผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส ช้อปปี้-ลาซาด้า มาหารือ เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ค้าจีน ที่นำสินค้ามาขายผ่านแพลตฟอร์ม มีการจดทะเบียนในไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และจัดเก็บภาษีได้ รวมถึงการดูแลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมร่วมระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อ และส่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นภาษี VAT 7% และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีหีบห่อ ราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท
ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอัตราอย่างไร หรือควรยกเลิกการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งจะมีการพิจารณาภาพรวมทุกมิติ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต คนทำมาค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากการยกเว้นภาษีการสั่งซื้อสินค้าด้วย
“ในการหารือครั้งนี้ จะไม่ได้ดูเรื่องการยกเว้น หรือทบทวนอัตราภาษีอย่างเดียว แต่จะดูถึงภาพรวมของผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่ไปรษณีย์ การหลบเลี่ยงโดยสำแดงราคาสินค้าให้ตํ่ากว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษี รวมถึง Free Trade Zone หรือเขตปลอดอากรที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในอดีตมีการยกเว้นภาษี VAT ไว้สำหรับสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เนื่องจากมูลค่า 1,500 บาท น้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับการคัดกรอง และเก็บภาษี รวมทั้งในอดีตไม่ได้มีการสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษี VAT ตั้งแต่บาทแรกสำหรับสินค้าที่ผลิตและขาย ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกำหนดวันประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ