จากกรณีที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีประกาศคณะกรรมการสรรหารองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10) และได้มีประกาศแจ้งผลการคัดเลือก พนักงาน เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10) ภายหลังจากที่ให้พนักงานผู้มีสิทธิเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์แล้ว ปรากฎว่าไม่มี พนักงาน ผู้ใดเป็นผู้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหารองผู้ว่าการกำหนด ให้ยกเลิกการรับสมัครคัดเลือกพนักงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10)
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหารองผู้ว่าการจะพิจารณาดำเนินการรับสมัครคัดเลือก บุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ (นักบริหาร 10) อีกครั้งในลำดับต่อไป จนนำมาซึ่ง กยท. ได้มีประกาศคณะกรรมการสรรหา ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อประกาศรับสมัคร บุคคล เพื่อสรรหาให้ดำรงตำแหน่งรองผู้การการยางแห่งประเทศไทย (นักบริหาร 10) ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ดร.เพิก เลิศวังพง) ไปแล้ว เพื่อให้สนับสนุนพนักงานได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองผู้ว่าการ
นายมานพ เกื้อรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตำแหน่ง “รองผู้ว่าการ” ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดที่พนักงาน กยท. จะมีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานใน กยท. แต่ตำแหน่งดังกล่าวกลับมีปัญหาทุกครั้งที่ กยท. จะพิจารณาพนักงานที่ตั้งใจทำงานมาตลอดชีวิตให้สามารถก้าวสู่ตำแหน่งนั้นได้ มีข้ออ้างสารพัด ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีความรู้เพียงพอ ทั้งที่พนักงานทุกคนทำงานมาไม่น้อยกว่า 20 ปี กว่าจะก้าวสู่ตำแหน่งรองผู้ว่าการได้ จึงเป็นความแปลกใจอย่างมากที่ บุคคล ไม่เคยทำงานมาเลย ไม่เคยนับ 1 จนวันหนึ่งเข้ามาทำงาน กยท. วันแรกก็เป็นรองผู้ว่าการ(นักบริหาร 10) ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา กยท. ก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าบุคคลที่รับมานั้น ไม่มีประโยชน์ใดๆกับ กยท. เพียงแต่เป็นตัวชี้วัดให้เห็นได้ว่า การเมือง ได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการมากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น
ดังนั้น สร.กยท. จึงขอย้ำจุดยืนเพื่อยืนยันจะให้พนักงานก้าวเป็นรองผู้ว่าการ และไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโอกาสให้ บุคคล ตามประกาศดังกล่าว รวมถึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง พร้อมทั้ง ขอให้ กยท. เปิดเผยข้อมูลหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาพนักงานเป็นรองผู้ว่าการในคราวที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และถือเป็นการแสดงความจริงใจของผู้บริหารระดับสูง รวมถึงคณะกรรมการ ผู้กำหนดนโยบาย ต่อเพื่อนพี่น้องพนักงานและสมาชิก ต่อจากนี้ขอสมาชิกได้ติดตามข่าวเพื่อสนับสนุนแนวทางตามที่ สร.กยท. กำหนด เพื่อไปสู่เป้าหมายและจุดยืนดังกล่าวร่วมกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเป็นการเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนคัดค้านประกาศ กยท. สรรหารองผู้ว่าการ และขอให้ กยท. ทบทวน มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสมาก พนักงานและลูกจ้างของ กยท. ดังนี้
1. ให้สมาชิก พนักงานและลูกจ้าง ลงลายมือชื่อแสดงความประสงค์ร่วมคัดค้านและให้ กยท.ทบทวน
2.แจ้งฝ่ายบริหารระดับส่วนงานที่เป็นผู้กระทบสิทธิโดยตรง หากประสงค์ หรือมอบหมาย ดำเนินคดีเพื่อความยุติธรรมสามารถติดต่อ สร.กยท.ได้พรัอมกับกำหนดแนวทางการยกระดับเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ต่อไป
ขณะที่นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. (ประธานบอร์ด) กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นส่วนตัว ใครก็ได้ แล้วที่ผ่านมาองค์กร ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นองค์กรนี้เป็นตัวขับเคลื่อนยางพาราทุกชนิด-ผลิตภัณฑ์อื่นๆ มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน แล้วจะต้องก้าวสู่มาตรฐาน EUDR ที่จะมีการบังคับใช้ในเดือนธันวาคมนี้ ดังนั้นอยากให้มองที่จุดนี้มากกว่า
“ส่วนสหภาพฯ ควรจะทำและขับไล่ควรจะเป็นผู้ว่าการฯ มากกว่า เพราะสวัสดิการ 3 องค์กรที่เกิดจากการควบรวม 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุน สงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ตามพระราชบัญญัติการยางแห่ง ประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 แล้วผู้ว่าฯ นั่งมา 4 สมัยแล้ว ไม่ได้ทำอะไรให้เลย 3 องค์กรยังมีความเหลื่อมล้ำ ผมถามว่า สหภาพทำอะไรอยู่ อย่ามาเล่นการเมือง เรื่องบริหารควรให้ผู้บริหาร เป็นคนที่รับผิดชอบ แล้วถ้าเข้ามารับผิดชอบไม่ได้ก็ควรที่จะไปจัดการกับผู้บริหาร”
นายเพิก กล่าวว่า กยท. นับตั้งแต่ควบรวมอยู่กันมา 9 ปีแล้ว สวัสดิการมีความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่มีใครทำอะไร ผมประกาศเลยว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ สวัสดิการต้องมีความชัดเจน เงินที่จะต้องจ่ายปีละ 100 ล้านบาท จะหาให้ เพื่อให้พนักงานทุกคนได้สวัสดิการเหมือนกัน เท่าเทียมกัน ดังนั้นหากพนักงานคนไหนจะไปร่วมกับสหภาพแล้วคิดว่าถูกต้องก็ทำเลยเป็นสิทธิของทุกคนที่ทำได้ไม่ได้ห้าม
ด้านนายจิตติน วิเศษสมบัติ อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. และคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารยางพารา กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ได้วางตัวเป็นกลาง เนื่องจากได้เปิดโอกาสให้คนภายในมาสอบวิสัยทัศน์แล้วไม่ผ่าน จึงเป็นที่มาของการเปิดรับสมัครคนนอกให้เข้ามา